แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก่อนยื่นคำแก้ฎีกาของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไว้แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกย. ภริยาจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 1 และมีภูมิลำเนาแห่งเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะทนายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายของย.แถลงรับว่าย.เป็นทายาทของจำเลยที่ 1 จริง และขอยื่นคำแก้ฎีกาต่อไปศาลชั้นต้นอนุญาตให้ย.เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1ผู้มรณะ ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้วคดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นย่อมไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ย.เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบแต่เมื่อศาลชั้นต้นสอบทนายจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นทนายของย.แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าย. เป็นทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ และจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วทั้งโจทก์ก็เป็นฝ่ายที่ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียก ย.ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะเองโดยไม่คัดค้านการเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ดังกล่าว ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งตั้งย. เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะต่อไป ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินที่พิพาทให้แก่ค. ที่ดินดังกล่าวยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามกฎหมายแม้ตามสัญญาซื้อขายจะมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1พร้อมจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อในเมื่อผู้ซื้อเรียกร้องได้ทุกเวลา และมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ให้แก่ผู้ซื้อแล้วก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่าง ค.กับจำเลยที่ 1ทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ที่จะโอนสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวพร้อมหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้น (น.ส.3 ก.)ให้แก่กัน ข้อความที่ระบุดังกล่าวระบุไว้เพื่อ หลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามคำฟ้องระหว่างค.กับจำเลยที่ 1จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดย กฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ย่อมไม่มีผลบังคับ จึงต้องถือว่า ค.ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดเวลา แม้ค. จะครอบครองที่ดินดังกล่าวมานานเพียงใด ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองดังนั้น แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทจากค. และรับโอนการครอบครองที่ดินดังกล่าวมาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี ที่กฎหมายห้ามโอนแล้วก็ตาม แต่เมื่อค. ผู้โอนไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นโจทก์ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า สิทธิที่ค.ผู้โอนมีอยู่ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามคำฟ้อง และต้องฟังว่าโจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าว แทนจำเลยที่ 1 โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาและโจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องให้ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองโดยบอกกล่าว ไปยังจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คำฟ้องของโจทก์จึง ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอศาลให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 629 ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น นิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนคำขอออกใบแทนและใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวกับให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และการจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินตามคำฟ้อง และส่งมอบการครอบครองพร้อมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นางทองผัด เพื่อแป เมื่อประมาณปี 2525 ต่อมานางทองผัดตาย ทายาทของนางทองผัดขายที่ดินดังกล่าวให้บุคคลอื่น และมีการขายที่ดินนั้นต่อไปอีกหลายทอดจนถึงโจทก์ จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินตามคำฟ้องจากจำเลยที่ 1ซึ่งขอออก น.ส.3 ก. แทนฉบับเดิม โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินตามคำฟ้องจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน การซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายคำตาล ชาตินาฝายขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ซึ่งห้ามโอนภายใน 10 ปี จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวและโจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินนั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าก่อนยื่นคำแก้ฎีกาของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไว้แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกนางยอมหรือพยอม หล้าบ้านโพนภริยาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 1 และมีภูมิลำเนาแห่งเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะ ทนายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายของนายยอมหรือพยอมด้วยแถลงรับว่า นางยอมหรือพยอมเป็นทายาทของจำเลยที่ 1 จริงและขอยื่นคำแก้ฎีกาต่อไป ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางยอมหรือพยอมเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะ ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้ว คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นางยอมหรือพยอมเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นางยอมหรือพยอมเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะ แต่เมื่อศาลชั้นต้นสอบทนายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายของนางยอมหรือพยอมด้วยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า นางยอมหรือพยอมเป็นทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มรณะและจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วจริง ทั้งโจทก์ก็เป็นฝ่ายที่ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกนางยอมหรือพยอมซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะเองโดยไม่คัดค้านการเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ดังกล่าวแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งตั้งนางยอมหรือพยอม หล้าบ้านโพน เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะต่อไป
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยฟังได้ว่า ที่ดินตามคำฟ้องเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ที่มีชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 และมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินนั้นให้แก่นายคำตาล ชาตินาฝาย พร้อมกับมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ซื้อวันที่ 25 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินดังกล่าวหายไปและจำเลยที่ 1 นำหลักฐานการแจ้งความดังกล่าวไปขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้วจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536 ต่อจากนั้นจำเลยที่ 2 จึงนำที่ดินนั้นไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินตามคำฟ้องให้แก่นายคำตาลนั้น ที่ดินดังกล่าวยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามกฎหมาย แม้ตามสัญญาซื้อขายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จะมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 พร้อมจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อในเมื่อผู้ซื้อเรียกร้องได้ทุกเวลาและมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่ผู้ซื้อแล้วก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างนายคำตาลกับจำเลยที่ 1 นั้น ทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ที่จะโอนสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวพร้อมหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้น (น.ส.3 ก.) ให้แก่กัน ข้อความที่ระบุดังกล่าวระบุไว้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามคำฟ้องระหว่างนายคำตาลกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างนายคำตาลกับจำเลยที่ 1 ไม่มีผลบังคับจึงต้องถือว่านายคำตาลครอบครองที่ดินนั้นแทนจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดเวลา แม้นายคำตาลจะครอบครองที่ดินดังกล่าวมานานเพียงใด นายคำตาลก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ดังนั้นถึงโจทก์จะซื้อที่ดินตามคำฟ้องจากนายคำตาลและรับโอนการครอบครองที่ดินดังกล่าวมาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี ที่กฎหมายห้ามโอนแล้วก็ตาม แต่เมื่อนายคำตาลผู้โอนไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น โจทก์ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่าสิทธิที่นายคำตาลผู้โอนมีอยู่ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามคำฟ้อง และต้องฟังว่าโจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นตลอดมาก็ตาม
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้เข้ายึดถือหรือครอบครองที่ดินตามคำฟ้องด้วยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2531โดยได้ปลูกไม้ไผ่ตง เต็มพื้นที่และล้อมรั้วลวดหนามรอบที่ดินดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน จำเลยทั้งสามมิได้มาเกี่ยวข้องกับที่ดินนั้นเลยโจทก์จึงได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1ยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้นั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินตามคำฟ้องแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาและโจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องให้ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวกรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้อนี้เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามคำฟ้องและไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และการจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินนั้นแก่โจทก์ได้ คดีไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไป”
พิพากษายืน