คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เหตุที่หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารจำเลยที่ 2 หายไปจากกองการเงินของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ไม่ทราบว่าหายไปเมื่อใดจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้โจทก์แล้ว แม้จำเลยที่ 2จะได้เอกสารดังกล่าวไว้ในครอบครองก็หาใช่กรณีที่หนี้ของลูกหนี้ได้ระงับสิ้นไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ไม่ และแม้จำเลยที่ 2จะอ้างว่ารับคืนสัญญาค้ำประกันนั้นจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ก็มิใช่เหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิด ข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสาม มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นได้ เมื่อโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันยังไม่ระงับ กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทข้อสันนิษฐานแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อหัวกระเทียมแห้งจากโจทก์โดยนำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำเลยที่ 2รวม 2 ฉบับมามอบให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อครบกำหนดชำระราคาแต่ละคราวจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวด้วย โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,973,759.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้นำหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ไปมอบให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 นำหนังสือสัญญาค้ำประกันนั้นมามอบคืนให้จำเลยที่ 2 พร้อมทั้งริบหลักประกันที่ให้ไว้และเงินค่าธรรมเนียมการออกหนังสือสัญญาค้ำประกันคืนไปจากจำเลยที่ 2 แล้ว หรือหากฟังว่าจำเลยที่ 1 มอบหนังสือสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ไว้ แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือสัญญาค้ำประกันคืนมาแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 แสดงเจตนาชัดแจ้งที่จะยกเลิกหรือเพิกเฉยการค้ำประกันจำเลยที่ 1 แล้ว และยังเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 ว่าหนี้นั้นได้ระวับแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,728,585.50บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน242,963.50 บาท นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2528 ในต้นเงิน109,536 บาท นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2528 ในต้นเงิน 138,348 บาทนับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2528 ในต้นเงิน 1,237,738 บาท นับแต่วันที่5 มิถุนายน 2528 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องมิให้เกิน 245,173.59 บาท ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,852,499.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารจำเลยที่ 2 มีผลระงับสิ้นไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.4 และจ.5 หายไปจากกองการเงินของโจทก์ ปรากฏว่า โจทก์ไม่ทราบว่าได้หายไปเมื่อใด จึงไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมคืนเอกสารหมาย จ.4 และจ. 5 แก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าซื้อกระเทียมให้โจทก์แล้ว แต่เป็นเรื่องที่ได้มีการกระทำผิดต่อกฎหมายโดยมีผู้ลักเอาเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ไปจากกองการเงินของโจทก์และได้ความว่าเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้นำเอกสารหมายจ.4 และ จ.5 ไปคืนให้แก่จำเลยที่ 2 สาขาบุรีรัมย์ เมื่อเอกสารดังกล่าวหายไปจากความครอบครองของโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์คืนเอกสารนั้นแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้เอกสารดังกล่าวมาอย่างไร จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ได้เอกสารดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยที่ 2 จะได้เอกสารนั้นไว้ในครอบครองแต่ก็หาใช่กรณีที่หนี้ของลูกหนี้ได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ไม่ สัญญาค้ำประกันของธนาคารจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ยังคงมีผลบังคับตามเงื่อนไขบังคับแห่งสัญญาซื้อขายกระเทียมซึ่งจำเลยที่ 2 ยอมเข้าค้ำประกันผูกพันตนไว้ หนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จึงยังไม่ระงับ โจทก์ชอบที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2จะอ้างว่ารับคืนสัญญาค้ำประกันจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ก็หาใช่เหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดไม่
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เอกสารแห่งหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ได้เวนคืนมายังจำเลยที่ 2 แล้ว จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคสาม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ นั้น เห็นว่า ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นได้ เมื่อโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวยังไม่ระงับไปดังได้วินิจฉัยมาแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทข้อสันนิษฐานแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาจำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดต่อโจทก์”
พิพากษายืน.

Share