คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมศุลกากรจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร เพื่องดการนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลแต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ทำการประเมินอากรที่โจทก์ต้องเสียและออกแบบแจ้งการประเมินอากรไปยังโจทก์เพื่อให้โจทก์นำเงินค่าอากรมาชำระตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2496 มาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง กรณียังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ในส่วนของค่าปรับที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งให้โจทก์นำเงินไปชำระนั้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่ามีการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ถ้าโจทก์ยอมเสียค่าปรับตามคำเปรียบเทียบก็ย่อมทำให้คดีอาญาระงับไปได้ตามมาตรา 102 และมาตรา 102 ทวิ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบได้ให้อำนาจไว้โดยชอบแล้วหากโจทก์ไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ จำเลยก็ไม่มีอำนาจบังคับได้ เพียงแต่ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป จึงไม่มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าการสำแดงรายการเพื่อยื่นเสียภาษีตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0103-0047-0767 เป็นการสำแดงรายการที่ถูกต้องครบถ้วนชอบด้วยกฎหมายและเพิกถอนการประเมินราคาเพิ่มสำหรับราคาสินค้าที่โจทก์ได้นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าว
จำเลยให้การว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้โจทก์ชำระค่าภาษีที่ขาดไปดังกล่าวชอบแล้ว และโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2537 โจทก์ได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรจากประเทศสิงคโปร์ โดยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าว่า เป็นสินค้าท่อยางเสริมด้วยโลหะมีราคา 280,314.89 บาท เสียอากรขาเข้า140,157 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 29,433 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพอใจ และโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรไปแล้ว โจทก์ไปขอตรวจรับสินค้าแต่เจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปราม กรมศุลกากร เห็นว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นท่ายางไฮดรอลิก โจทก์มีความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร เป็นเหตุให้อากรขาด อันเป็นความผิดตามมาตรา 27 และ 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469โจทก์ไม่เห็นด้วย ได้ทำหนังสือโต้แย้งไว้ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าที่นำเข้าเป็นเงิน 1,160,250.41 บาทคิดเป็นอากรขาเข้าที่ขาด 439,968 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มขาด 92,393 บาทโจทก์จึงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารศรีนคร จำกัด วางเป็นประกันการชำระภาษีที่เพิ่มขึ้น และโจทก์ได้นำเงินมาชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์รับไปและส่งตัวอย่างสินค้าไปตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 24ต่อมา พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เปรียบเทียบปรับเพื่อระงับคดีในชั้นศุลกากร โจทก์จึงได้มีหนังสือขออุทธรณ์ไปยังจำเลย และขอให้พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับการนำสินค้าเข้าจากนั้นจำเลยได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาทบทวนราคาประเมินและให้โจทก์ไปทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร เพื่องดการนำคดีฟ้องร้องต่อศาล โดยให้โจทก์นำเงินค่าปรับจำนวนสองเท่าของอากรที่ขาดเป็นเงิน 879,936 บาท ไปชำระภายใน 10 วัน เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการประเมินเงินอากรที่โจทก์จะต้องเสีย และแจ้งให้โจทก์ทราบ ซึ่งหากโจทก์ไม่พอใจการประเมินดังกล่าว โจทก์ย่อมอุทธรณ์์คัดค้านได้ ตามมาตรา 112 ทวิ วรรคสาม คดีนี้จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร เพื่องดการนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาล แต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ทำการประเมินอากรที่โจทก์ต้องเสียและออกแบบแจ้งการประเมินอากรไปยังโจทก์เพื่อให้โจทก์นำเงินค่าอากรมาชำระตามมาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง กรณียังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวและวินิจฉัยมาในชั้นศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
ในส่วนของค่าปรับที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งให้โจทก์นำเงินไปชำระนั้น เห็นว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่ามีการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติศุลกากรถ้าโจทก์ยอมเสียค่าปรับตามคำเปรียบเทียบก็ย่อมทำให้คดีอาญาระงับไปได้ ตามมาตรา 102 และมาตรา 102 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2464 ในการกำหนดค่าปรับจำเลยได้มีคำสั่งอ้างเกณฑ์ระงับคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากรเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการและเป็นธรรมแก่คู่กรณี ซึ่งตามลักษณะการกระทำของโจทก์ถ้าจะเปรียบเทียบปรับจะต้องปรับสองเท่าของอากรที่ขาด ในการคำนวณอากรที่ขาดจำเลยจะต้องเอามาจากราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้า โดยถือราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสินค้าแล้วเห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าโจทก์ได้ระบุว่าเป็นท่อยางเสริมโลหะ แต่จากการตรวจวิเคราะห์สินค้าของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวเป็นท่อยางไฮดรอลิกพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าให้ถูกต้องตามราคาสินค้าอันแท้จริงในท้องตลาด โดยเปรียบเทียบกับผู้นำเข้ารายอื่นเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาสินค้าอันแท้จริงในท้องตลาดเพื่อนำไปคำนวณหาอากรที่ขาดแล้วได้กำหนดเป็นเกณฑ์ให้โจทก์เสียค่าปรับอันจะได้ระงับคดีอาญา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบได้ให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว หากโจทก์ไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับจำเลยก็ไม่มีอำนาจบังคับได้เพียงแต่ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป จึงไม่มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share