แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะพิพาท มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า เมื่อทำคำชี้ขาดแล้วอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดจะต้องจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกคน และมาตรา 23 บัญญัติให้คู่กรณีฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่แล้ว แสดงว่าผู้ร้องจะเกิดสิทธิหรืออำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แม้อนุญาโตตุลาการจะมีหน้าที่จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ แต่ผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ เมื่อพยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ามีการส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการถึงผู้คัดค้านซึ่งจะต้องถูกบังคับตามคำชี้ขาดแล้ว ผู้ร้องจึงยังไม่มีอำนาจที่จะร้องขอให้ศาลชั้นต้นบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อตกลงตามสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2537 ตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2543 ผู้ร้องได้ยื่นเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันภัย เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 4704/2543 สาขารับประกันภัย จำนวนทุนทรัพย์ 364,781 บาท ตามสัญญาประนอมข้อพิพาท 20 ฉบับ ภายหลังอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้ว ผู้คัดค้านไม่ชำระหนี้ตามคำชี้ขาดข้อพิพาท ขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยชำระเงินแก่ผู้ร้องจำนวน 399,267 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,881 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการแรกว่า ผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะพิพาท หมวดที่ 4 ว่าด้วยคำชี้ขาดและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า เมื่อทำคำชี้ขาดเสร็จแล้วอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดจะต้องจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นถึงคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกคน และในมาตรา 23 บัญญัติให้คู่กรณีฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่แล้ว แสดงว่าผู้ร้องจะเกิดสิทธิหรืออำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แม้อนุญาโตตุลาการจะมีหน้าที่จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ แต่ผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ ดังนั้นเมื่อผู้ร้องมีนายวิฑูรย์ พยานผู้ร้องเบิกความเพียงว่า อนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านเพียงว่าพยานเข้าใจว่าผู้คัดค้านจะมีการลงลายมือชื่อรับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามที่เบิกความไว้ แต่ไม่แน่ใจว่าผู้ใดจะเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับคำชี้ขาดดังกล่าว พยานหลักฐานของผู้ร้องไม่ปรากฏว่ามีการส่งสำเนาคำชี้ขาดไปให้แก่ผู้คัดค้าน พยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมาจึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ามีการส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการถึงผู้คัดค้านซึ่งจะต้องถูกบังคับตามคำชี้ขาดแล้ว ผู้ร้องจึงยังไม่มีอำนาจที่จะร้องขอให้ศาลชั้นต้นบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ประการอื่นของผู้ร้องไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ