คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกมาเป็นชื่อของจำเลย และจำเลยเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกนำมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้วนำเงินมรดกดังกล่าวบริจาคให้วัด กับสร้างโบสถ์และ ซื้อที่ดินให้วัดอันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกเพื่อ จัดแบ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นทายาท ส่วนการบริจาคเงินมรดกก็เป็นการจัดการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกยินยอมไม่คัดค้าน และจำเลยได้จัดการ มรดกในลักษณะที่เปิดเผย ทั้งจำเลยได้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์บางส่วนแล้วและจะแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกอื่นให้อีก โดยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ยอม ไปจดทะเบียนรับโอนเพราะยังไม่พอใจในอัตราส่วนแบ่งมรดกเช่นนี้กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งแต่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้วและจำเลยได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดและจัดทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการทรัพย์มรดกแล้ว เมื่อผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกมีเพียงโจทก์และจำเลยเพียงสองคนในการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกจำเลยก็ได้ยื่นบัญชีทรัพย์มรดกแนบท้ายคำร้องขอด้วย ซึ่งฝ่ายโจทก์ทราบและยินยอมในการที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกและฝ่ายโจทก์รู้เห็นในการทำบัญชีทรัพย์มรดกด้วยแล้วนอกจากนี้จำเลยได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนและยังจะแบ่งทรัพย์มรดกอื่นให้อีก เมื่อจำเลยมิได้ละเลยในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และไม่ปรากฏว่าจำเลยทุจริตหรือความไม่สามารถอันเป็นประจักษ์ จึงยังไม่สมควรที่จะ ถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายเธนตร์ วานิชศรกุลกับนางน้อย เทียมคำ โดยนายเธนตร์จดทะเบียนรับรองโจทก์เป็นบุตรนายเธนตร์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2534จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเธนตร์ผู้ตายตามคำสั่งศาลชั้นต้นต่อมาเมื่อคำสั่งศาลตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วจำเลยละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาและตามแบบที่กฎหมายกำหนด ไม่ทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดก ทั้งไม่จัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2534 และวันที่ 2 กรกฎาคม 2534จำเลยได้เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายที่ธนาคารต่าง ๆรวมเป็นเงิน 2,792,499.73 บาท แล้วเบียดบังเอาไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ไม่แบ่งปันให้แก่ทายาทเมื่อโจทก์ขอเบิกเงินเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อยังชีพ จำเลยอ้างว่าไม่มีเงินซึ่งเป็นทรัพย์มรดก ต่อมาจำเลยได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37181 และ37183 และโฉนดเลขที่ 3493 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ในการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37181 จำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยกับผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อนางสาวอรพรรณ และให้เจ้าพนักงานที่ดินจดแจ้งนางสาวอรพรรณลงในบัญชีเครือญาติด้วยซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์หลายครั้ง จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ไม่สมควร และความไม่สามารถอันเป็นประจักษ์ของจำเลย ซึ่งจัดการมรดกไปในทางไม่สุจริตมีพฤติการณ์ไม่เป็นที่ไว้วางใจของโจทก์ซึ่งเป็นทายาท หากให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเธนตร์วานิชศรกุลกับให้จำเลยจดทะเบียนถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 37181 และ 37183 และโฉนดที่ดินเลขที่ 3493 มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดิน 3 โฉนดดังกล่าว กับโฉนดที่ดินเลขที่ 37182 และ 52762 และเงินจำนวน 2,792,499.73 บาท แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายและมีคำสั่งให้จำเลยถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของผู้ตายในส่วนที่จำเลยยักย้ายไป
จำเลยให้การว่า จำเลยจัดการมรดกโดยสุจริตถูกต้องตามกฎหมาย โดยแบ่งมรดกให้แก่ทายาทไปแล้วบางส่วน โจทก์จะเพิกถอนการโอนที่ดินไม่ได้ จำเลยเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก จำเลยจัดการมรดกตลอดมามิได้ทำให้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรของนายเธนตร์ วานิชศรกุล กับนางน้อย เทียมคำซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกันนายเธนตร์จดทะเบียนรับรองโจทก์เป็นบุตร จำเลยเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายเธนตร์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2534 ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินและเงินฝากในธนาคารประมาณ 2,800,000 บาท จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ถอนเงินที่ฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางลำพูจำนวน 20,856.73 บาท ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาราชดำเนินจากบัญชีออมทรัพย์จำนวน 5,969.02 บาท จากบัญชีเงินฝากประจำจำนวน 9,398.54 บาท และธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาเตาปูนจากบัญชีออมทรัพย์จำนวน 100,088.28 บาท จากบัญชีเงินฝากประจำจำนวน 2,654,133.24 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 2,790,425.74 บาทและจำเลยได้จัดการให้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 37183, 3493 และ 37181 เป็นของจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 37182 และ 52762 เป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 37182และ 52762 มิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37181, 37183และ 3493 ไว้ และจำเลยเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายจำนวน 2,790,425.74 บาท นำมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้วนำเงินมรดกดังกล่าวบริจาคให้วัดประชาศรัทธาธรรมหรือวัดเสาหินจำนวน 800,000 บาท บริจาคสร้างโบสถ์วัดบ้านดอนเหลือมจำนวน 300,000 บาท และซื้อที่ดินให้วัดบ้านดอนเหลือมจำนวน 26,400 บาท และชำระหนี้อื่นของผู้ตาย และจากพฤติการณ์ที่โจทก์จำเลยนำสืบได้ความว่า ทั้งมารดาโจทก์และจำเลยต่างรับรู้ว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาท 3 โฉนดนี้และเงินฝากกับทรัพย์อื่น โดยได้ร่วมกันจัดการศพผู้ตายตลอดจนปรึกษาหารือกันเรื่องทรัพย์มรดกมาโดยตลอด และจำเลยก็จัดการมรดกในลักษณะที่เปิดเผยทั้งจำเลยได้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์บางส่วนแล้วและจำแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกอื่นให้อีก โดยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ยอมไปจดทะเบียนรับโอนเพราะยังไม่พอใจในอัตราส่วนแบ่งข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า การจดทะเบียนรับโอนที่ดิน 3 โฉนดเป็นข้อตกลงเบื้องต้นในการแบ่งปันมรดก และการบริจาคเงินก็เป็นไปโดยฝ่ายโจทก์ยินยอมไม่คัดค้าน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล ไม่ต้องด้วยกรณีที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยสมควรถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เห็นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 25 เมษายน2534 และปรากฏตามบัญชีทรัพย์มรดกทำเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2534แสดงว่าจำเลยได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดและจัดทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการทรัพย์มรดกแล้ว นอกจากนี้ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกมีเพียงโจทก์และจำเลยเพียงสองคนเท่านั้นในการยื่นคำร้องขอเป็นจัดการมรดกก็ได้ยื่นบัญชีทรัพย์มรดกแนบท้ายคำร้องขอด้วย ซึ่งฝ่ายโจทก์ทราบและยินยอมในการที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก เหตุที่ไม่มีลายมือชื่อฝ่ายโจทก์ในบัญชีทรัพย์มรดกนั้น ก็ได้ความจากจำเลยและนายวุฒิชัยศรีรัตนพรพันธ์ ซึ่งลงชื่อเป็นพยานและผู้เขียนบัญชีทรัพย์มรดกตามลำดับว่า ฝ่ายโจทก์ไม่ยินยอมลงชื่อ เพราะฝ่ายโจทก์โต้แย้งในอัตราส่วนแบ่ง ดังนี้ น่าเชื่อว่าฝ่ายโจทก์รู้เห็นในการทำบัญชีทรัพย์มรดก ยิ่งกว่านั้นปรากฏว่าจำเลยไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนและยังจะแบ่งทรัพย์มรดกอื่นให้อีก หาได้ละเลยในการแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ จากพฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการมรดกหรือทุจริตหรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ จึงยังไม่สมควรที่จะถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
พิพากษายืน

Share