คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2482/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความตามคำพิพากษาของศาล โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยเจ้าของภารยทรัพย์ไปดำเนินการจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมที่โจทก์ได้มา แต่จำเลย เพิกเฉย ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์จึงฟ้องจำเลยในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์ให้จดทะเบียนสิทธิภารจำยอมให้แก่โจทก์ได้ คดีก่อนโจทก์ฟ้อง ส. เจ้าของภารยทรัพย์ที่จำเลยรับโอนต่อมาโดยจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีนั้นก็ตามแต่เมื่อคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาว่า โจทก์ได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401ประกอบมาตรา 1382 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้สิทธิภารจำยอมอันเป็นทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง เป็นทรัพย์สิทธิคนละประเภทกับกรรมสิทธิ์ ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์มีอำนาจในอสังหาริมทรัพย์ของตนเอง และภารจำยอมเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ อสังหาริมทรัพย์มิได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยเฉพาะ ภารจำยอมจึงย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้จะมีการโอน อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปให้แก่บุคคลอื่น ภารจำยอมก็ หาได้หมดสิ้นไปไม่ เว้นแต่กรณีจะต้องตามบทบัญญัติของ กฎหมายเท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะรับโอนที่พิพาทมา โดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจจะยกขึ้นต่อสู้กับสิทธิ ภารจำยอมของโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลดังกล่าวจึงผูกพันจำเลย ด้วยในฐานะที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ฟ้องนายสุนทรต่อศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสี่ได้ภารจำยอมในทางพิพาทตามคดีหมายเลขแดงที่ 2950/2536 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่สามารถนำคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปจดทะเบียนภารจำยอมได้ เนื่องจากนายสุนทรได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งสี่แจ้งให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์ทั้งสี่แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ห้ามจำเลยกระทำการป้องกัน ขัดขวางโจทก์ทั้งสี่และบริวารในการใช้ทางพิพาทในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 12340 ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 12340ให้โจทก์ทั้งสี่และให้จำเลยไปจดทะเบียนให้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยปิดกั้นทางพิพาทจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสี่และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันจำเลยไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้องไปจดทะเบียนภารจำยอมและจำเลยไม่ใช่คู่ความตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 2950/2536 คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ค่าใช้ทางแก่จำเลยเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสี่จะเลิกใช้ทางพิพาท
โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทกว้าง 6 เมตรยาวตลอดแนวที่ดินจากทิศตะวันออกไปจดทิศตะวันตกตรงแนวกึ่งกลางในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 12340 ของจำเลยเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 8725, 8723,8718 และ 8717 ของโจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางภารจำยอมดังกล่าว หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยขัดขวางในการที่โจทก์ทั้งสี่และบริวารจะใช้ทางพิพาท ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าโจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ผลแห่งคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2950/2536 ของศาลแพ่งธนบุรีผูกพันจำเลยหรือไม่ และทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ในประเด็นแรกจำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยปิดกั้นหรือขัดขวางมิให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะและโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้สิทธิภารจำยอมตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมในทางพิพาทให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ ๆ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ ๆ ได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 2950/2536ของศาลแพ่งธนบุรี จำเลยเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ โจทก์ทั้งสี่บอกกล่าวให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมที่โจทก์ทั้งสี่ได้มาตามผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉยแม้จำเลยจะมิได้กระทำการป้องกันหรือขัดขวางมิให้โจทก์ทั้งสี่และบริวารใช้ทางพิพาทก็ตาม แต่การที่จำเลยไม่ดำเนินการไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ที่ควรจะได้จดทะเบียนสิทธิภารจำยอมดังกล่าว การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอม จึงเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภารจำยอมของโจทก์ทั้งสี่อย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์จดทะเบียนทางภารจำยอมให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่มีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยมิให้ป้องกันขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์ทั้งสี่และบริวารเป็นเพียงคำขอบังคับล่วงหน้าเพื่อป้องกันมิให้จำเลยขัดขวางการใช้ทางพิพาทเท่านั้น จึงไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องมีการกระทำตามที่โจทก์ทั้งสี่ขอบังคับก่อน โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ในปัญหาที่ว่าผลแห่งคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2950/2536 ของศาลแพ่งธนบุรี ผูกพันจำเลยหรือไม่นั้นเห็นว่า ในคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสี่ฟ้องนายสุนทรเจ้าของภารยทรัพย์ที่จำเลยรับโอนต่อมา และศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสี่ได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 คำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสี่ได้สิทธิภารจำยอมอันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองซึ่งสิทธิภารจำยอมดังกล่าวเป็นทรัพยสิทธิที่จำกัดตัดทอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นทรัพยสิทธิคนละประเภทกับกรรมสิทธิ์ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์มีอำนาจในอสังหาริมทรัพย์ของตนเองและเนื่องจากภารจำยอมเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์มิได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะภารจำยอมจึงย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้จะมีการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปให้แก่บุคคลอื่น ภารจำยอมก็หาได้หมดสิ้นไปเว้นแต่กรณีจะต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น ภารจำยอมจึงจะระงับดังนั้นไม่ว่าจำเลยจะรับโอนที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ก็ตามก็ไม่อาจจะยกขึ้นต่อสู้กับสิทธิภารจำยอมของโจทก์ทั้งสี่ได้คำพิพากษาศาลแพ่งธนบุรีดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์
พิพากษายืน

Share