คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันมาแจ้งความต่อตำรวจ เปิดเผยการกระทำอันไม่บริสุทธิ์โดยไม่แจ้งว่าตนได้ร่วมในการกระทำผิดด้วย และ เนื่องจากการแจ้งความเปิดเผยเช่นนี้ทำให้กรมสรรพากรทราบจนบริษัทต้องถูกปรับค่าภาษีถึงห้าแสนบาทเศษ จะเป็นโดยจำเลยแจ้งเพื่อบรรเทาผลร้ายหรือแม้จะเพราะโกรธเคืองกันเอง ก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อผู้กระทำผิดร่วมที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
จำเลยแจ้งความต่อตำรวจโดยไม่ได้ร้องขอให้จับกุม เป็นการแล้วแต่ตำรวจจะสอบสวนพิจารณาเหตุผลเอาเอง ข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งว่ามีการลงบัญชีเท็จก็เป็นจริงดังที่จำเลยแจ้งความได้มีการสอบสวนใช้เวลาอีกหลายเดือน ตำรวจจึงได้เรียกโจทก์ไปแจ้งข้อหา หากโจทก์จะเสียหายที่ต้องไปสถานีตำรวจและต้องหาประกันที่โจทก์ว่าทำให้โจทก์เสียหายประการใด ก็เป็นผลโดยตรงจากการวินิจฉัยของตำรวจเอง การที่ตำรวจหรืออัยการไม่ฟ้องโจทก์ต่อศาลก็ไม่ใช่เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิด แต่เห็นว่าจำเลยไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งเป็นปัญหากฎหมาย ไม่ใช่เพราะข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งไม่เป็นความจริง เช่นนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดฐานละเมิด

ย่อยาว

คดี 2 สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องทำนองเดียวกันทั้งสองสำนวนว่า จำเลยไปแจ้งความต่อตำรวจหาว่า โจทก์ทั้งสองทำผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ จำเลยได้กระทำไปโดยความมุ่งร้ายและคำนวนผลจากการแจ้งความว่าโจทก์กับพวกจะได้ถูกจับกุมสอบสวนเป็นที่เสียหาย และถูกเหยียดหยาบในวงการค้าและวงสังคมให้เสื่อมเสียชื่อเสียงทั้งทางส่วนตัวและตระกูลของโจทก์โจทก์ต้องถูกจับและถูกควบคุมตัวเสื่อมเสียอิสสรภาพต้องวิ่งเต้นหาประกันและถูกสอบสวนหลายเดือน ผลที่สุดตำรวจสั่งไม่ฟ้อง โจทก์ทั้งสองสำนวนขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำนวนละ250,000 บาทกับดอกเบี้ย และบังคับจำเลยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 447 ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาอันได้แสดงว่าจำเลยแกล้งกล่าวหาโจทก์โดยไม่เป็นความจริงในหนังสือพิมพ์

จำเลยให้การว่า จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์ร่วมกับบุคคลอื่นจะฉ้อโกงยักยอกเงินของบริษัทซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้เสียหายอยู่ด้วย จำเลยจึงได้แจ้งความขอให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจชนะสงครามทำการสอบสวนดำเนินคดี ไม่เป็นการละเมิด

ศาลแพ่งฟังว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ไม่ได้กระทำผิด แต่จำเลยไปแจ้งความว่า โจทก์กระทำผิดมีโทษทางอาญา เช่นนี้ถือว่าจำเลยกระทำละเมิดซึ่งจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คนละสองหมื่นบาท ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ยังไม่จำเป็นต้องให้จำเลยกระทำถึงเช่นนั้น

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ที่จำเลยไปแจ้งความนั้น จำเลยได้กระทำไปโดยสุจริต และมีเหตุผลอันสมควรเชื่อได้ว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดหาใช่เป็นการแกล้งกล่าวหาโดยความเท็จไม่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา

โจทก์กล่าวมาในฎีกาว่า เรื่องนี้จำเลยไม่มีความสุจริตในใจในการกล่าวหาเรื่องทุจริต เพราะจำเลยรู้เรื่องบัญชีลับ และการหาใบรับมาหักบัญชีลับ จำเลยเองเป็นตัวการ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหากเป็นเรื่องจริง ก็เป็นเรื่องร่วมคบคิดกัน (เพราะโจทก์ทั้งสองก็ทำงานอยู่ในบริษัทจำเลยไปแจ้งความหาว่าโจทก์ฉ้อโกงยักยอกเงินของบริษัท) การที่ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันมาแจ้งความต่อตำรวจเปิดเผยการกระทำอันไม่บริสุทธิ์โดยไม่แจ้งว่าตนได้ร่วมในการกระทำผิดด้วยและเนื่องจากการแจ้งความเปิดเผยเช่นนี้ทำให้กรมสรรพากรทราบจนบริษัทต้องถูกปรับค่าภาษีถึงห้าแสนบาทเศษ จะเป็นโดยจำเลยแจ้งเพื่อบรรเทาผลร้ายหรือแม้จะเพราะโกรธเคืองกันเอง ก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อผู้กระทำผิดร่วม ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้

การที่จำเลยแจ้งความต่อตำรวจนั้น ไม่ได้ร้องขอให้จับกุมเป็นการแล้วแต่ตำรวจจะสอบสวนพิจารณาเหตุผลเอาเอง ข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งว่ามีการลงบัญชีเท็จก็เป็นจริงดังที่จำเลยแจ้งความได้มีการสอบสวนใช้เวลาอีกหลายเดือนตำรวจจึงได้เรียกโจทก์ทั้งสองไปแก้ข้อหา หากโจทก์จะเสียหายที่ต้องไปสถานีตำรวจและต้องหาประกันที่โจทก์ว่าทำให้โจทก์เสียหายประการใด ก็เป็นผลโดยตรงจากการวินิจฉัยของตำรวจเองการที่ตำรวจหรือพนักงานอัยการไม่ฟ้องโจทก์ต่อศาล ก็ไม่ใช่เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิด แต่เห็นว่าจำเลยไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งเป็นปัญหากฎหมายไม่ใช่เพราะข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งไม่เป็นความจริง จำเลยไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดตามที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share