แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาจ้างแรงงานไม่ได้ระบุไว้อย่างแจ้งชัดว่า ในกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจะต้องนำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อนแต่อย่างใด ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานจึงมีลักษณะเป็นการให้สิทธิแก่คู่สัญญาว่า ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานแล้ว คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจใช้สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานของประเทศไทย เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้นๆ หรือคู่สัญญาอาจตกลงกันนำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก็ได้ การที่โจทก์นำข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิจะฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางโดยชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์หรือโจทก์ลาออกจากงาน ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไปทำงานที่สำนักงานร่วมทุนที่ประเทศสิงคโปร์มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน โดยโจทก์เรียกเงินเดือนในอัตราใหม่ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนอัตราเดิมมาก แสดงว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงยกเลิกความผูกพันตามสัญญาจ้างเดิมและเจรจาตกลงเงื่อนไขสภาพการจ้างใหม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางและมิได้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินโบนัส 176,271.55 บาท ค่าชดเชย 1,153,778.40 บาท ค่าเสียหาย 576,889.70 บาท รวม 1,906,939.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินโบนัส 176,271.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าชดเชย 1,153,778.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์ ดอกเบี้ยให้นับแต่วันฟ้อง (9 กุมภาพันธ์ 2544) เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 2 ของจำเลย ประเด็นแรกว่า โจทก์จะต้องนำข้อพิพาทในคดีนี้ให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลย ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 12 ได้ระบุว่า “ฝ่ายต่างๆ ตกลงว่าเขาจะใช้ความพยายามที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากหรือเกี่ยวกับสัญญานี้ ความขัดแย้ง คำเรียกร้อง หรือข้อพิพาทใดๆ ที่ไม่อาจแก้ไขได้เช่นนั้นจะตัดสินโดยศาลของประเทศไทย อนุญาโตตุลาการดังกล่าวใดๆ จะกระทำในกรุงเทพฯ หรือที่อื่นตามที่อาจตกลงร่วมกันโดยทั้งสองฝ่ายภายใน 15 วัน หลังจากเริ่มอนุญาโตตุลาการแต่ละฝ่ายจะเลือกบุคคลหนึ่งคนเป็นอนุญาโตตุลาการ และอนุญาโตตุลาการทั้งสองคนที่ได้รับเลือกดังกล่าวจะเลือกอนุญาโตตุลาการคนที่สามภายใน 10 วัน นับจากที่ได้รับแต่งตั้ง แต่ละฝ่ายจะออกต้นทุนและค่าใช้จ่ายของเขาเอง และส่วนแบ่งที่เท่าๆ กันของค่าใช้จ่ายของอนุญาโตตุลาการและค่าธรรมเนียมการบริหารของอนุญาโตตุลาการ” เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้อย่างแจ้งชัดว่า ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจะต้องนำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อนแต่อย่างใด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้สิทธิแก่คู่สัญญาว่าในกรณีที่เกิดข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจใช้สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานของประเทศไทย เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้นๆ หรือคู่สัญญาอาจตกลงกันนำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก็ได้ การที่โจทก์นำข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยมาฟ้องเป็นคดีนี้ แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิจะฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางโดยชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยประเด็นที่สองซึ่งจำเลยอุทธรณ์ความว่าการที่โจทก์ไปทำงานที่สำนักงานร่วมทุนที่ประเทศสิงคโปร์มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน โดยโจทก์เรียกเงินเดือนในอัตราใหม่ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนอัตราเดิมมาก แสดงว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงยกเลิกความผูกพันตามสัญญาจ้างเดิมและเจรจาตกลงเงื่อนไขสภาพการจ้างใหม่ตามเอกสารหมาย ล.3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามสัญญาจ้างเดิมที่จะมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เห็นว่า คดีนี้คงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า จำเลยเป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์หรือโจทก์ลาออกจากงานเองเท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางและมิได้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน