แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินคดีแพ่งว่าด้วยสัญญาซื้อขายแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์เมื่อมีข้อโต้แย้งในเรื่องสัญญาซื้อขาย ดังนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวกับบุคคลใดผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับมอบหมายได้โดยไม่จำต้องระบุว่าให้ดำเนินคดีแก่จำเลยอีก
แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจะจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ต่อไป แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชี สภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 3 ยังคงมีอยู่ต่อไปตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดในฐานะหุ้นส่วนไม่ใช่ในฐานะห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249, 1077 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 474,974.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 417,560 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 474,974.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 417,560 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุว่าให้ดำเนินคดีแก่จำเลย คงระบุเพียงว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีแพ่งว่าด้วยข้อหา หรือฐานความผิดสัญญาซื้อขายเท่านั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินคดีแพ่งว่าด้วยสัญญาซื้อขายแทนโจทก์เป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ เมื่อมีข้อโต้แย้งในเรื่องสัญญาซื้อขาย ดังนั้นเมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวกับบุคคลใด ผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับมอบหมายได้โดยไม่จำต้องระบุชื่อจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ประการต่อมาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 กรรมการของจำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนของจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลชุดเดียวกัน จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรร จำเลยที่ 2 ที่ 3 ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 1 สั่งซื้อถังบำบัดน้ำเสียจากโจทก์ไปติดตั้งในหมู่บ้านจัดสรรของจำเลยที่ 1 โจทก์ส่งสินค้าให้เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระ จำเลยที่ 2 เคยชำระค่าถังบำบัดน้ำเสียให้แก่โจทก์ เห็นว่า โทรสารใบสั่งซื้อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ระบุว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 เคยชำระค่าบำบัดน้ำเสียให้แก่โจทก์ ในการซื้อมาใช้ในหมู่บ้านจัดสรรของจำเลยที่ 1 แห่งเดียวกันนี้ ซึ่งหากการบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกัน ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะใช้ใบสั่งซื้อของตน นอกจากนี้กรรมการของจำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนของจำเลยที่ 3 ยังเป็นบุคคลชุดเดียวกัน มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ที่เดียวกัน จำเลยที่ 4 นอกจากจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 4 ยังเป็นน้องของกรรมการของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกันจึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันประกอบธุรกิจบ้านจัดสรร แม้จำเลยที่ 3 จะจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน และจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ต่อไป แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชีจำเลยที่ 3 สภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 3 ยังคงมีอยู่ต่อไปตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีและจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดในฐานะหุ้นส่วนไม่ใช่ในฐานะห้างหุ้นส่วน ตามมาตรา 1249 มาตรา 1077 (2) ดังนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน