คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การให้บริการบัตรเครดิตเป็นวัตถุประสงค์ของโจทก์ การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมโจทก์จึงเป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกและการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกไปก่อน รวมทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าทดรองที่ได้ออกไปก่อน กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) เมื่อทางนำสืบปรากฏว่าโจทก์แจ้งงดใช้บัตรเครดิตตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 และมีการแจ้งให้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนวันดังกล่าวนี้แล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่ต้นปี 2535 มิใช่วันที่คำบอกกล่าวเลิกสัญญามีผลดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 สิงหาคม 2539 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตแก่โจทก์จำนวน 322,477.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 314,112.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 322,477.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 314,112.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ตามบัตรเครดิต 2 ประเภทคือ เพื่อซื้อสินค้าและชำระราคาค่าบริการต่าง ๆ แทนเงินสดประเภทหนึ่งกับใช้เบิกเงินสดจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือธนวัฎบัตรเครดิตอีกประเภทหนึ่ง มีวงเงินประมาณ 50,000 บาท มีข้อตกลงว่าโจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนจำเลยหรือจ่ายเงินให้จำเลยไปก่อน แล้วโจทก์จึงจะเรียกเงินจากจำเลยในภายหลัง จำเลยได้ซื้อสินค้าและถอนเงินออกจากบัญชีหลายครั้ง มีการแจ้งยอดหนี้ให้จำเลยทราบเป็นรายเดือนปัญหาที่ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนมีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความดังจำเลยฎีกาหรือไม่ เห็นว่า การให้บริการบัตรเครดิตเป็นวัตถุประสงค์ของโจทก์ การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกไปก่อน รวมทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าทดรองที่ได้ออกไปก่อนกรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่าง ๆเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) เมื่อทางนำสืบปรากฏว่าโจทก์แจ้งงดใช้บัตรเครดิตตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 และมีการแจ้งให้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนวันดังกล่าวนี้แล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่ต้นปี 2535 มิใช่วันที่คำบอกกล่าวเลิกสัญญามีผลดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัย เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 สิงหาคม 2539 พ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีก เพราะมิได้ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป”

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share