คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7600/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อน ป. ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระราคาที่ดินที่ค้างชำระโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนกับ ป. โดยมีข้อสัญญาเอาเปรียบ ป. สัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงขอให้บังคับจำเลยชำระราคาที่ดินที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของ ป. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิของ ป. โจทก์ในคดีก่อนถือว่าโจทก์และจำเลยในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีก่อน การที่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่า ป. และจำเลยแสดงเจตนาลวงทำสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนโดยไม่มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาจึงเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุน แม้จะเป็นการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงที่ ป. ฟ้องคดีก่อน แต่ศาลก็ต้องวินิจฉัยคดีนี้อีกว่า สัญญาการซื้อขายร่วมสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง ป. กับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนพร้อมแบ่งผลตอบแทน และสัญญาขายที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และหมายเลข 5 บังคับให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่10882 และโฉนดเลขที่ 10883 แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบุตรนายประดิษฐ์ เสริฐศรี เดิมนายประดิษฐ์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10882 และโฉนดเลขที่ 10883 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 นายประดิษฐ์กับจำเลยทำสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนพร้อมแบ่งผลตอบแทน และในวันเดียวกันนายประดิษฐ์ทำสัญญาขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 นายประดิษฐ์ฟ้องจำเลยขอให้ชำระราคาที่ดินทั้งสองแปลงส่วนที่ค้างชำระอีก1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การสู้คดีและฟ้องแย้งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 441/2539 ของศาลชั้นต้น ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นนายประดิษฐ์ถึงแก่ความตาย นายชวินทร์ เสริฐศรี ผู้จัดการมรดกของนายประดิษฐ์ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาวันที่ 29 สิงหาคม 2539 คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเนื่องจากผู้เข้าเป็นคู่ความแทนนายประดิษฐ์ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย ครั้นวันที่ 14 มกราคม2540 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 441/2539 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อนนายประดิษฐ์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระราคาที่ดินทั้งสองแปลงที่ค้างชำระอีก 1,800,000 บาท โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า นายประดิษฐ์ทำสัญญาขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยในราคา 6,300,000 บาท ในวันทำสัญญาซื้อขายจำเลยชำระเงินให้เพียง 4,500,000 บาท โดยนำเงินจำนวน 3,000,000บาท ไปไถ่ถอนจำนองที่นายประดิษฐ์เป็นหนี้ธนาคาร และสั่งจ่ายเช็คให้ 1,500,000 บาท ส่วนราคาที่ดินที่เหลืออีก 1,800,000 บาท จำเลยชักชวนให้นายประดิษฐ์ร่วมลงทุนประกอบการพัฒนาที่ดินทั้งสองแปลงนั้น จำเลยเป็นผู้ร่างสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนพร้อมแบ่งผลตอบแทนโดยมีข้อความเอาเปรียบนายประดิษฐ์ สัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเพราะจำเลยคิดดอกเบี้ยจากเงินจำนวน 3,000,000 บาท ที่นำไปไถ่ถอนจำนองในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี คิดดอกเบี้ยจากเงินจำนวน 1,500,000 บาท ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ราคาที่ดินที่เหลืออีก 1,800,000 บาท ซึ่งนายประดิษฐ์ต้องเบิกจากจำเลยไปพัฒนาที่ดินก็คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หากนายประดิษฐ์ ไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดจำเลยจะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน หลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้วมิได้มีการพัฒนาที่ดิน นายประดิษฐ์ไม่ประสงค์จะร่วมประกอบการพัฒนาที่ดินกับจำเลย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระราคาที่ดินที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ในวันทำสัญญาซื้อขายนายประดิษฐ์ได้รับเงินจากจำเลย 4,654,240 บาท ราคาที่ดินที่ค้างชำระมีเพียง 1,654,240 บาท สัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนพร้อมแบ่งผลตอบแทนเป็นสัญญาซื้อขายกับสัญญาร่วมลงทุนในฉบับเดียวกัน หากเป็นโมฆะก็เฉพาะส่วนที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จำเลยออกเงินพัฒนาที่ดินแล้ว 50,000บาท นายประดิษฐ์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนและไม่มีสิทธิเรียกค่าที่ดินที่ค้างชำระ นายประดิษฐ์ยังต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 4,654,240 บาทและในต้นเงิน 50,000 บาท ศาลชั้นต้นในคดีก่อนกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า 1. สัญญาซื้อขายที่ดิน (ที่ถูกสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนพร้อมแบ่งผลตอบแทน) เป็นโมฆะทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือไม่ 2. นายประดิษฐ์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 1,654,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ และ 3. นายประดิษฐ์จะต้องชำระดอกเบี้ยจำนวนตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลยหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนพร้อมแบ่งผลตอบแทน หามีข้อความใดขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ จึงมีผลผูกพันนายประดิษฐ์กับจำเลยไม่เป็นโมฆะจำเลยจ่ายเงินพัฒนาที่ดินเป็นค่าใช้จ่ายไถปรับที่ดินให้สวยงามเพียง 50,000 บาท ยังไม่ถือเป็นการพัฒนาที่ดินให้อยู่ในสภาพที่ขายได้ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาร่วมลงทุนพัฒนาที่ดิน แต่นายประดิษฐ์มิได้บอกกล่าว โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน การที่นายประดิษฐ์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทันทีเป็นการไม่ชอบ นายประดิษฐ์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระราคาที่ดินที่เหลือ และนายประดิษฐ์ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่จำเลย โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของนายประดิษฐ์ โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิของนายประดิษฐ์โจทก์ในคดีก่อน ถือว่าโจทก์และจำเลยในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีก่อนการที่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่านายประดิษฐ์และจำเลยแสดงเจตนาลวงทำสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนพร้อมแบ่งผลตอบแทนเพื่อให้จำเลยนำที่ดินไปจำนองแก่ธนาคารและนำเงินมาใช้ลงทุนในการจัดสรรที่ดิน โดยไม่มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาจึงเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนพร้อมแบ่งผลตอบแทนและสัญญาขายที่ดินโดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสัญญาการซื้อขายที่ดินดังกล่าว แม้จะเป็นการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงที่นายประดิษฐ์ฟ้องคดีก่อน แต่ศาลก็ต้องวินิจฉัยคดีนี้อีกว่า สัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนพร้อมแบ่งผลตอบแทนระหว่างนายประดิษฐ์กับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 441/2539 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share