แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องขอเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินตามฟ้อง อ้างว่าโจทก์หลงลืมและโจทก์เพิ่งทราบในภายหลังว่าตามกฎหมายสามารถเรียกร้องดอกเบี้ยได้ หลังจากที่ศาลแรงงาน สืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่นำพยานเข้าสืบก่อนเสร็จสิ้นแล้ว แต่เหตุที่โจทก์อ้างก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุอันสมควรที่โจทก์ไม่อาจรู้หรือไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย จึงไม่เข้ากรณีที่โจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัสจำนวน ๑๑๕,๐๐๐ บาท และเงินสะสมจำนวน ๑๙๐,๘๕๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ต่อมาศาลแรงงานกลางสืบพยานจำเลยเสร็จแล้วและนัดสืบพยานโจทก์ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าว ก่อนเริ่มพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากเงินโบนัสและเงินสะสมตามฟ้อง ทนายจำเลยคัดค้านว่าโจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องหลังจากที่จำเลยสืบพยานเสร็จแล้วทำให้จำเลย เสียเปรียบ ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มิได้ขอแก้ไขคำฟ้องก่อนสืบพยานอีกฝ่ายเสร็จสิ้น ทำให้ เสียเปรียบกันในเชิงคดี จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ แก้ไขคำฟ้องเป็นการไม่ชอบนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศาลนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๓ เมื่อถึงวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ดังกล่าวจำเลยยื่นคำให้การ และปรากฏว่ามีการสืบพยานจำเลยซึ่งศาลแรงงานกลางกำหนดให้เป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อนเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๓ แล้วจำเลยแถลงหมดพยาน ต่อมาวันนัดสืบพยานโจทก์ ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องขอเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินตามฟ้อง อ้างว่าโจทก์หลงลืมเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยและโจทก์เพิ่งทราบในภายหลังว่าตามกฎหมายสามารถเรียกร้องดอกเบี้ยได้ เห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องหลังจากที่ศาลแรงงานกลางสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่นำพยานเข้าสืบก่อนเสร็จสิ้นแล้ว และเหตุที่โจทก์อ้างในคำร้องเพื่อขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุอันสมควร ที่โจทก์ไม่อาจรู้หรือไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของ ประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย จึงไม่เข้ากรณีที่โจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๘๐ ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน .