คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ขอให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้ง ++
++
++ ทดสอบการทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ ย่อข้อกฎหมายอย่างไม่เป็นทางการ
++ ขอชุดตรวจได้ที่งานย่อข้อกฎหมายระบบ CW โถงกลางชั้น 3 ++
++
++
++ ตามหลักฐานการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามแบบ ส.ว.11 ปรากฏว่าผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงรับสมัครผู้คัดค้านให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่าในวันลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 เมษายน2543 นั้น ผู้คัดค้านไม่อยู่ในราชอาณาจักร จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนทำการสอบสวนได้ความว่า มีหลักฐานการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของผู้คัดค้านในระหว่างที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งให้การต่อกรรมการสอบสวนว่า ในวันลงคะแนนดังกล่าวพยานอยู่ที่หน่วยเลือกตั้งตลอดเวลาไม่พบผู้คัดค้านไปที่หน่วยเลือกตั้ง ส่วนบัญชีรายชื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งปรากฏว่ามีการจ่ายบัตรให้กับผู้คัดค้านและมีลายมือชื่อของผู้คัดค้านในบัญชีรายชื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
++ เมื่อผู้ร้องคงมีแต่หลักฐานตามเอกสารหมาย ร.3และ ร.4 แสดงว่าผู้คัดค้านได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและรับกันว่าการเข้าออกนอกราชอาณาจักรตามระเบียบพิธีการของการตรวจคนเข้าเมือง ผู้เดินทางเข้าและออกนอกราชอาณาจักรจะต้องผ่านพิธีการประทับตราจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนทางปฏิบัตินั้น จะต้องมีการประทับตราทุกครั้งหรือไม่ ผู้ร้องไม่มีพยานยืนยันได้
++ ส่วนผู้คัดค้านก็มีกรรมการในหน่วยเดียวกัน ยืนยันว่าเห็นผู้คัดค้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 29 เมษายน 2543 จึงเป็นการยันกันของพยานบุคคลแต่ละฝ่ายซึ่งเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหน่วยเดียวกัน ฟังยุติไม่ได้ว่าผู้คัดค้านไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 29 เมษายน 2543 ประกอบกับพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 29 เมษายน2543 ตามแบบ ส.ว.11 อยู่ในความครอบครองของผู้ร้องระบุชัดว่าผู้คัดค้านได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศว่าผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 29 เมษายน 2543ซึ่งขัดแย้งกับเอกสารหมาย ร.2 ซึ่งมีข้อความระบุโดยแจ้งชัดว่าผู้คัดค้านได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 29 เมษายน 2543 และผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ข้อความที่แสดงว่าผู้คัดค้านได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 29 เมษายน 2543 เกิดขึ้นโดยไม่ถูกต้องหรือมีการกระทำโดยทุจริต พยานหลักฐานผู้ร้องจึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในวันที่ 29 เมษายน 2543 ผู้คัดค้านจึงไม่ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ++

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ ๘ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประกาศรายชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ ๘ จังหวัดบุรีรัมย์แล้ว แต่ต่อมาปรากฏหลักฐานว่าผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในการลงคะแนนเลือกตั้งครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙เมษายน ๒๕๔๓ ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในการลงคะแนนเลือกตั้งครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓โดยปกติผู้คัดค้านประกอบธุรกิจในประเทศลาวต้องเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศไทยลาวเป็นประจำโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมิได้เคร่งครัดว่าจะต้องมีการแจ้งเข้าหรือแจ้งออกทุกครั้ง ผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลนายแพทย์สุรเชษฐ์ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ ด้วย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางไต่สวนได้ความจากผู้ร้องว่า ตามหลักฐานการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามแบบ ส.ว.๑๑ ปรากฏว่าผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงรับสมัครผู้คัดค้านให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่าในวันลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน๒๕๔๓ นั้น ผู้คัดค้านไม่อยู่ในราชอาณาจักร จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนทำการสอบสวนตามเอกสารหมาย ร.๑ ได้ความว่า มีหลักฐานการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของผู้คัดค้านในระหว่างที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ๓ ปากให้การต่อกรรมการสอบสวนว่า ในวันลงคะแนนดังกล่าวพยานอยู่ที่หน่วยเลือกตั้งตลอดเวลาไม่พบผู้คัดค้านไปที่หน่วยเลือกตั้ง ส่วนบัญชีรายชื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งปรากฏว่ามีการจ่ายบัตรให้กับผู้คัดค้านและมีลายมือชื่อของผู้คัดค้านในบัญชีรายชื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น พยานทั้ง๓ ปาก ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และได้ความจากผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านมีธุรกิจในประเทศลาว จึงต้องเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาวเป็นประจำ การเดินทางเข้าออกบางครั้งใช้หนังสือเดินทางบางครั้งใช้ใบผ่านแดน ผู้คัดค้านเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๓ แล้วกลับเข้ามาเมื่อวันที่ ๒๐ เดือนเดียวกัน และเดินทางออกไปอีกครั้งวันที่ ๒๔ และกลับเข้ามาวันที่ ๒๘ เดือนเดียวกัน ผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลนายแพทย์สุรเชษฐ์ ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ และนางณัฏฐินี จันทร์ไทย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง เห็นผู้คัดค้านไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งที่ ๒
พิเคราะห์แล้ว ผู้ร้องคงมีแต่หลักฐานตามเอกสารหมาย ร.๓และ ร.๔ แสดงว่าผู้คัดค้านได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและรับกันว่าการเข้าออกนอกราชอาณาจักรตามระเบียบพิธีการของการตรวจคนเข้าเมือง ผู้เดินทางเข้าและออกนอกราชอาณาจักรจะต้องผ่านพิธีการประทับตราจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนทางปฏิบัตินั้น จะต้องมีการประทับตราทุกครั้งหรือไม่ ผู้ร้องไม่มีพยานยืนยันได้ ข้อเท็จจริงจากการไต่สวน ฝ่ายผู้ร้องมีเพียงนางสาวละมุล โกษากูล กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยที่ผู้คัดค้านจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ ๒๙เมษายน ๒๕๔๓ เบิกความยืนยันว่าไม่เห็นผู้คัดค้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ ส่วนผู้คัดค้านก็มีนางณัฏฐินี จันทร์ไทยกรรมการในหน่วยเดียวกัน ยืนยันว่าเห็นผู้คัดค้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ จึงเป็นการยันกันของพยานบุคคลแต่ละฝ่ายซึ่งเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหน่วยเดียวกัน ฟังยุติไม่ได้ว่าผู้คัดค้านไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ ประกอบกับพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ ๒๙ เมษายน๒๕๔๓ ตามแบบ ส.ว.๑๑ เอกสารหมาย ร.๒ นั้น อยู่ในความครอบครองของผู้ร้องระบุชัดว่าผู้คัดค้านได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศว่าผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ เอกสารหมาย ร.๓และ ร.๔ ขัดแย้งกับเอกสารหมาย ร.๒ ซึ่งมีข้อความระบุโดยแจ้งชัดว่าผู้คัดค้านได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ และผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ข้อความที่แสดงว่าผู้คัดค้านได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ เกิดขึ้นโดยไม่ถูกต้องหรือมีการกระทำโดยทุจริต พยานหลักฐานผู้ร้องจึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ ผู้คัดค้านจึงไม่ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง.

Share