แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การจับกุมกับการสอบสวนเป็นวิธีการทางกฎหมายคนละขั้นตอนกัน โดยการจับกุมจะชอบหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งอันเพื่อให้ได้ตัวมาเพื่อการฟ้องศาลตามที่สอบสวนไว้แล้วหรือที่จะทำการสอบสวนต่อไปเท่านั้น ไม่มีผลเกี่ยวข้องกับการสอบสวนไม่เหมือนกับการร้องทุกข์หรือการชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 129ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน เมื่อมีการสอบสวนจำเลยโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบของกลางและนับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียว ลงโทษฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำคุกคนละ 7 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด5 ปี 3 เดือน ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 1ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1)จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าตอนที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมและตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 1นั้น ไม่มีหมายค้นจึงเป็นการไม่ชอบ และเป็นผลให้การสอบสวนไม่ชอบไปด้วย เห็นว่า การจับกุมกับการสอบสวนเป็นวิธีการทางกฎหมายคนละขั้นตอนกัน โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน มาตรา 121วรรคสอง บัญญัติว่า แต่ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบมาตรา 140 บัญญัติว่า”เมื่อพนักงานสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้วให้จัดการดังต่อไปนี้ (1) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด (2) ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด ให้ใช้บทบัญญัติในสี่มาตราต่อไปนี้” และมาตรา 141บัญญัติว่า “ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดแต่ จับตัวยังไม่ได้ ให้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง” วรรคสี่ บัญญัติว่า “ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า ควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการ เพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา” ฉะนั้นด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าการจับกุมจะชอบหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งอันเพื่อให้ได้ตัวมาเพื่อการฟ้องศาลตามที่สอบสวนไว้แล้วหรือที่จะทำการสอบสวนต่อไปเท่านั้น ไม่มีผลเกี่ยวข้องกับการสอบสวนไม่เหมือนกับการร้องทุกข์หรือการชันสูตรพลิกศพ ตามมาตรา 129 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน อีกประการหนึ่งตอนที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลยที่ 1 โดยที่ยังไม่ได้จับกุมจำเลยที่ 2ด้วยนั้น การกระทำดังกล่าวจะเป็นการชอบหรือไม่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกจับกุมตัวในคดีอื่นภายหลังดังนั้น เมื่อมีการสอบสวนจำเลยที่ 2 ในคดีนี้โดยชอบแล้ว โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2ได้กระทำผิดตามฟ้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน