แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินสดจำนวน 2,800 บาท ของกลางที่โจทก์ขอให้ริบ ไม่อยู่ในความหมายเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) ศาลจึงไม่อาจริบได้
แม้จะปรากฏตามทางพิจารณาว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อได้จากจำเลยเป็นของกลาง แต่โจทก์มิได้มีคำขอให้คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าธนบัตรของกลางดังกล่าว เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้โดยยังมิได้คืนแก่เจ้าของ จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะพิจารณาสั่งคืนธนบัตรของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี รวมโทษ 2 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี แล้วเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 15 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 11 ปี 3 เดือน นั้น เป็นผลร้ายแก่จำเลย เพราะมีผลทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกมากขึ้น ซึ่งที่ถูกจะต้องเพิ่มโทษจำเลยเป็นรายกระทงก่อน แล้วจึงลดโทษให้จำเลยเป็นรายกระทง หลังจากนั้นจึงรวมโทษ คือเมื่อเพิ่มโทษจำเลยกระทงละกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 แล้ว เป็นจำคุกกระทงละ 7 ปี 6 เดือน เมื่อลดโทษให้จำเลยกระทงละหนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วคงจำคุกกระทงละ 5 ปี 7 เดือน 15 วัน รวมโทษ 2 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี 15 เดือน ทั้งนี้ โดยไม่คำนวณโทษจำคุกส่วนที่เป็นเดือนให้เป็นปี เพราะเมื่อนำมาคำนวณระยะเวลาจำคุกตาม ป.อ. มาตรา 21 วรรคสองแล้ว จะเป็นผลร้ายแก่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๙๗, ๑๐๒ ป.อ. มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑ ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก ๕ ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๑๐ ปี เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ เป็นจำคุก ๑๕ ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๑ ปี ๓ เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลางให้แก่เจ้าของ ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดจึงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
สำหรับเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลางซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษจำนวนอื่นก่อนคดีนี้ และขอให้ริบโดยอ้างอิง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ และ ป.อ. มาตรา ๓๒, ๓๓ มานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เงินสดของกลางดังกล่าวไม่อยู่ในความหมายเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ บัญญัติไว้ และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา ๓๒, ๓๓ (๒) จึงไม่อาจริบได้ในคดีนี้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๑๔/๒๕๔๓ (ประชุมใหญ่) ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี โจทก์ นางสาวอัญชลี โต๊ะเฮง จำเลย แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งริบเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลางในคดีนี้ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา นอกจากนี้แม้จะปรากฏตามทางพิจารณาว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดธนบัตรฉบับละ ๑๐๐ บาท จำนวน ๑ ฉบับ ที่ใช้ล่อซื้อได้จากจำเลยเป็นของกลางด้วย แต่โจทก์ มิได้มีคำขอให้คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ รวมทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าธนบัตรของกลางดังกล่าว เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้โดยยังมิได้คืนแก่เจ้าของ จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาสั่งคืนธนบัตรของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของตาม ป.อ. มาตรา ๔๙ อีก
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยจำคุกกระทงละ ๕ ปี รวมโทษ ๒ กระทง เป็นจำคุก ๑๐ ปี แล้วเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ เป็นจำคุก ๑๕ ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๑๑ ปี ๓ เดือน นั้น เป็นผลร้ายแก่จำเลยเพราะมีผลทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกมากขึ้น ซึ่งที่ถูกต้องจะต้องเพิ่มโทษจำเลยเป็นรายกระทงก่อน แล้วจึงลดโทษให้จำเลยเป็นรายกระทง หลังจากนั้นจึงรวมโทษ ซึ่งจะปรากฏผลดังนี้คือ เมื่อเพิ่มโทษจำเลยกระทงละกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ แล้วเป็นจำคุกกระทงละ ๗ ปี ๖ เดือน เมื่อลดโทษให้จำเลยกระทงละหนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ แล้วคงจำคุกกระทงละ ๕ ปี ๗ เดือน ๑๕ วัน รวมโทษ ๒ กระทง เป็นจำคุก ๑๐ ปี ๑๕ เดือน ทั้งนี้โดยไม่คำนวณโทษจำคุกส่วนที่เป็นเดือนให้เป็นปี เพราะเมื่อนำมาคำนวณระยะเวลาจำคุกตาม ป.อ. มาตรา ๒๑ วรรคสองแล้ว จะเป็นผลร้ายแก่จำเลย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่กำหนดโทษเมื่อเพิ่มโทษและลดโทษให้จำเลยเป็นรายกระทงแล้วจึงให้รวมโทษ ๒ กระทง เป็นจำคุกจำเลย ๑๐ ปี ๑๕ เดือน และเงินสดจำนวน ๒,๘๐๐ บาท ของกลางที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษจำนวนอื่นก่อนคดีนี้ไม่ริบ.