แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การขอคืนเงินอากรในจำนวนที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงภายในสองปีนับแต่วันนำของเข้า ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคท้าย นั้น จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะขอคืนเงินอากรในจำนวนที่เห็นว่าเสียไว้เกินจำนวนที่พึงเสียจริงก่อนการส่งมอบ มิฉะนั้นย่อมไม่มีสิทธิขอคืนไม่ว่าจะอยู่ในระยะเวลา 2 ปี หรือไม่ การขอคืนหนังสือค้ำประกันมิใช่การขอคืนเงินอากร จึงไม่ต้องห้ามด้วยบทบัญญัติของมาตรา 10 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ. 2469 จึงต้องบังคับด้วยอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ไปขอรับการตรวจปล่อยสินค้า เจ้าหน้าที่ของจำเลยอ้างว่า โจทก์สำแดงรายการในใบขนสินค้าไม่ถูกต้อง โดยสำแดงเครื่องหมายการค้าหมายเลขประจำชิ้นส่วนของสินค้า และอัตราส่วนการลดเป็นเท็จ ทำให้อากรขาดอันเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร พนักงานของจำเลยจึงไม่ยอมตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์ และได้ส่งใบขนสินค้าของโจทก์ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินราคาสินค้าและภาษีอากร ให้โจทก์ชำระเพิ่มอีกครั้งหนึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วย แต่เพื่อจะนำของออก โจทก์จึงได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ไปค้ำประกันไว้ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานของจำเลย ในวงเงิน 651,000 บาท จึงได้รับการตรวจปล่อย ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2529 เจ้าพนักงานของจำเลยได้แจ้งราคาสินค้าทีประเมินใหม่และให้ไปทำความตกลงระงับคดี โดยกำหนดให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าที่ขาด 157,454.02 บาท ภาษีการค้าที่ขาด 59,517.62 บาทภาษีบำรุงเทศบาลที่ขาด 5,951.76 บาท กับให้โจทก์เสียค่าปรับ2 เท่าของอากรที่ขาดเป็นเงิน 318,908.04 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงได้ทำหนังสือชี้แจ้งโต้แย้งไว้การที่จำเลยประเมินราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อมาจริง โดยเทียบกับราคาสินค้าของแท้ที่มีเครื่องหมายการค้า โดยลดให้ร้อยละ 15 หรือเปรียบเทียบให้ประเมินราคาใหม่ โดยถือราคาของแท้เป็นเกณฑ์ มิใช่ราคาซื้อขายอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินของจำเลยจึงไม่ชอบขอให้ศาลพิพากษาว่า การประเมินของจำเลยไม่ชอบ ให้จำเลยคืนเงิน335,270.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ กับให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัดวงเงิน 651,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง เพราะตามฟ้องโจทก์นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2528 และได้เสียภาษีอากรและรับมอบของไปจากจำเลยในปี พ.ศ. 2528โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2531 เมื่อนับระยะเวลานับแต่วันนำเข้าถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี โจทก์มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันฟ้องรับแจ้งการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำกัด เพราะสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นหลักฐานที่ธนาคารกรุงเทพจำกัด ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ทำให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ เป็นเรื่องระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด กับจำเลยโดยเฉพาะมิได้เกี่ยวข้องกับโจทก์แต่อย่างใด คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อโต้แย้งในส่วนนี้จำเลยใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์การประเมินจึงชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โดยมิได้วินิจฉัยประเด็นอื่นอีก พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าตามฟ้องโจทก์ได้ขอเงินภาษีอากร จำนวน 335,270.62 บาท กับหนังสือค้ำประกันคืนสำหรับการขอภาษีอากรคืนในจำนวนเงินที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 10วรรคห้า กำหนดให้เรียกคืนภายในสองปี นับแต่วันนำของเข้าแต่ถ้าเรียกร้องขอคืนเพราะเหตุเกี่ยวด้วยราคาแห่งของใด ๆ จะต้องแจ้งความไวั้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการยื่นใบขนสินค้าขาเข้า และแบบแสดงรายการการค้าและบัญชีราคาสินค้าเพื่อเสียภาษี ในบัญชีราคาสินค้าแม้จะได้มีการแก้ราคาสินค้าทางรายการให้สูงขึ้น จะเป็นเพราะข้อทักท้วงของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าตามราคาดังกล่าวและได้เสียภาษีอากรตามราคาสินค้าดังกล่าว โดยมิได้โต้แย้งหรือแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะขอคืนภาษีอากรในจำนวนที่โจทก์เห็นว่า เสียไว้เกินจำนวนที่พึงเสียจริง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขอคืนไม่ว่าจะอยู่ในระยะเวลา 2 ปีหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนภาษีอากรจำนวน 335,270.62 บาท อุทธรณ์โจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ขอคืนนั้นเห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์ใช้หนังสือค้ำประกันเพื่อจะเสียภาษีอากรต่อไป มิใช่เป็นการขอคืนเงินภาษีอากรที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสีย จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 10 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 แต่ต้องบังคับด้วยอายุความทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มีกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการขอคืนหนังสือค้ำประกันไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์โจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น และจำเป็นจะต้องวินิจฉัยเรื่องการขอคืนหนังสือค้ำประกันโดยโจทก์อ้างว่าการประเมินราคาสินค้าไม่ชอบประเด็นดังกล่าวศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัย โดยเฉพาะการประเมินราคาสินค้าชอบหรือไม่ โจทก์ได้อุธรณ์ประเด็นนี้ต่อศาลฎีกาแต่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวของโจทก์แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย เห็นว่าเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบสินค้าที่โจทก์นำเข้าไม่ตรงตามบัญชีราคาสินค้า และมีราคาต่ำกว่าราคาสินค้าชนิดเดียวกับที่มีผู้อื่นนำเข้าซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีอากรเพิ่มจึงให้โจทก์วางประกันและโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัดประกันไว้ เกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าดังกล่าว ฝ่ายโจทก์มีนายศิริเดช บุศแก้ว เบิกความว่า ราคาที่โจทก์นำเข้านั้นเป็นราคาที่โจทก์ซื้อจากผู้ขาย ก่อนซื้อผู้ขายได้ส่งใบแจ้งราคาสินค้า โจทก์จึงเปิดเลตเตอร์ออผเครดิต ผู้ขายจึงได้ส่งบัญชีราคาสินค้า ใบตราส่งใบบรรจุหีบห่อ และใบเรียกเก็บเงินโดยฝ่ายธนาคารมาให้โจทก์ ในบัญชีราคาสินค้าที่ระบุอีซูซุ ฮีโน นิสสัน มาสด้า มิตซูบิชิ และโตโยต้า หมายความว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามานั้นจะใช้กับรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าว แต่สินค้าโจทก์ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าเอ็น.พี.อาร์. ราคาที่โจทก์นำเข้าจึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงเห็นได้ว่าตามข้อนำสืบของโจทก์เองปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามานั้นนอกจากจะมีเครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อ เอ็น.พี.อาร์.แล้วยังมียี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าอื่นด้วย ส่วนจำเลยมีนายไพฑูรย์ ใจก้าวหน้า เบิกความว่า ได้ตรวจสินค้าโจทก์บางชิ้นมีคำว่า ฮีโนประทับอยู่ที่ตัวสินค้าและได้นำไปเปรียบเทียบกับสินค้าที่มีเครื่องหมายหรือยี่ห้อฮีโนปรากฏว่าเป็นสินค้าที่มีเนื้อโลหะขนาด และน้ำหนัก เหมือนกันทุกประการ ส่วนสินค้าที่ผู้นำเข้าอ้างไว้ในบัญชีราคาสินค้าว่า อีซูซุหรือโตโยต้าก็จะเทียบกับสินค้ายี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าของบริษัทนั้น แม้จะไม่ปรากฏจากคำเบิกความของนายไพฑูรย์ว่าผลการเปรียบเทียบเป็นอย่างไร แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าแตกต่างจากอะไหล่แท้ดังกล่าวอย่างไร การที่จำเลยถือเอาราคาตามที่บริษัทนั้นได้ยื่นไว้ต่อจำเลยเป็นเกณฑ์ในการเรียกเก็บภาษีอากรและถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงเห็นได้ว่า เป็นการกำหนดราคาชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิจะรับคืนหนังสือค้ำประกันในชั้นนี้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.