คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบกิจการ ระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐ และมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่มีข้อความที่อนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาต โอนสิทธิแก่ผู้อื่นได้ โจทก์ผู้รับใบอนุญาตจึงต้องทำเอง โดยเฉพาะตัว และผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 9 คือ ผู้ที่เข้าไปประกอบกิจการระเบิดและย่อยหินโดยไม่ได้ รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีโทษทางอาญาตามมาตรา 108 ทวิ เมื่อตามสัญญาซื้อขายหินระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อตกลง ให้จำเลยระเบิดและย่อยหินเอง โดยจำเลยมิได้เป็น ผู้ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการ ดังนี้หากจำเลยเข้าไปดำเนินการก็ย่อมเข้าข่ายเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งกรณีนี้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของโจทก์เสียได้ เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินระบุว่า ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากนี้สัญญาซื้อขายหินได้กำหนดให้ผู้ซื้อจะต้องเข้าไปทำการระเบิดและย่อยหินเองภายในระยะเวลาตามใบอนุญาต ภาระภาษีต่าง ๆ ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบรวมทั้งค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และหน้าที่ต่าง ๆ ของโจทก์ที่ทางราชการระบุไว้ในใบอนุญาตที่สำคัญ ๆ ทุกข้อก็นำมาระบุไว้ในสัญญาให้เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อ สัญญาซื้อขายหินดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหิน โดยโจทก์จำเลยมีเจตนาแท้จริงที่จะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กันจึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยไม่อาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ในสำนวนแรกเห็นว่าคดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ส่วนในสำนวนหลัง เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
โจทก์สำนวนแรกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้องในสำนวนแรก
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ในสำนวนแรกจำเลยที่ 1มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ส่วนในสำนวนหลังให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ในสำนวนแรกให้ปรับจำเลยที่ 1 อีก 10,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ในสำนวนหลัง จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 30,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองและโจทก์ทั้งสองในชั้นนี้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คตามฟ้องหรือไม่และสมควรจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองต่างเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบกิจการระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐ จำเลยทั้งสองเป็นผู้ซื้อหินจากโจทก์ทั้งสองในราคา 30,000,000 บาท มีข้อตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองต้องเข้าไประเบิดและย่อยหินเองตามเอกสารหมาย จ.9 จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 6,000,000 บาท และ 24,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังทั้ง 2 ฉบับ ครั้นเช็คดังกล่าวถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้ง 2 ฉบับ
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญาซื้อขายหินตามเอกสารหมาย จ.9เป็นโมฆะ เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้นั้น ได้ความว่า ใบอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองประกอบกิจการระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ออกตามความในมาตรา 9แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อความที่อนุญาตให้โอนสิทธิได้ จึงมีลักษณะเป็นเรื่องที่ผู้รับใบอนุญาตต้องทำเองโดยเฉพาะตัว ผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 9 ดังกล่าวซึ่งในกรณีนี้คือผู้ที่เข้าไปประกอบกิจการระเบิดและย่อยหินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีโทษทางอาญาตามมาตรา 108 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว มีข้อตกลงให้จำเลยทั้งสองระเบิดและย่อยหินเองโดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการ ซึ่งหากจำเลยทั้งสองเข้าไปดำเนินการก็ย่อมเข้าข่ายเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ทั้งนี้กรณีนี้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของโจทก์ทั้งสองเสียได้ เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินระบุว่า ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ ตามสัญญาซื้อขายหินได้กำหนดให้ผู้ซื้อจะต้องเข้าไปทำการระเบิดและย่อยหินเองภายในระยะเวลาตามใบอนุญาตภาระภาษีต่าง ๆ ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้หน้าที่ต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งสองที่ทางราชการระบุไว้ในใบอนุญาตที่สำคัญ ๆ ทุกข้อก็นำมาระบุไว้ในสัญญาให้เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อปรากฏตามสัญญาซื้อขายหินเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 2, 6, 9 และและข้อ 10 ถึง 16 เป็นต้น เห็นได้ว่า สัญญาซื้อขายหินดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหิน โดยมีเจตนาแท้จริงที่จะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กัน สัญญาซื้อขายหินตามเอกสารหมาย จ.9 จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 การออกเช็คตามฟ้องจำนวน 2 ฉบับ มิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองทั้งสองสำนวน

Share