คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22246/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษหนักขึ้นเฉพาะผู้มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 เพื่อไปติดต่อล่อซื้อและจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ โดยผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยที่ 1 เอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปเก็บรักษาไว้เพราะเคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ขณะที่จำเลยที่ 1 เก็บอาวุธปืนไว้แล้วผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ต่างลงจากรถ จำเลยที่ 1 บอกให้ผู้เสียหายหยุด อย่าขยับตัว ผู้เสียหายแย่งปืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเข้าร่วมทำร้ายผู้เสียหาย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนมาก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี แต่การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายในการชิงทรัพย์นั้น แม้จะเป็นอาวุธปืนของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงเอามาจากผู้เสียหายก็ตาม แต่การชิงทรัพย์ยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหาย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการชิงทรัพย์ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์ ดังนั้น เฉพาะจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 295,88, 339, 340 ตรี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงินจำนวน 49,750 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83, 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประกอบกฎหมายอาญา มาตรา 295, 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้อาวุธปืน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี ฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษเห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี 3 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 49,750 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายโดยใช้อาวุธปืน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กาย และยกคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 49,750 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า สิบตำรวจเอกปิติ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสรวิชญ์ และเลื่อนยศเป็นดาบตำรวจ ผู้เสียหายรับราชการที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ผู้เสียหายเคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อนในระหว่างที่ผู้เสียหายไปช่วยราชการที่ศาลจังหวัดสงขลา ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายถูกคนร้ายทำร้ายได้รับบาดแผลตามรายงานการชันสูตรบาดแผลความผิดฐานพยายามฆ่า โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีส่วนนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าคำเบิกความของผู้เสียหายแม้เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวแต่เบิกความอย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน มีเหตุผลน่าเชื่อถือ อีกทั้งผู้เสียหายถูกจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลต้องเย็บถึง 13 เข็ม ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญสนับสนุนให้น่าเชื่อว่าคำเบิกความของผู้เสียหายเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ผู้เสียหายอยู่กับจำเลยทั้งสองก่อนเกิดเหตุจนกระทั้งถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายชิงทรัพย์และหลบหนีไปด้วยกันเป็นเวลานานพอที่จะจดจำจำเลยทั้งสองได้ กับพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีน้ำหนักน้อยไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ แต่ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้อาวุธปืนตีประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายอันเป็นความผิดต้องปรับลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่ลงโทษหนักขึ้นเฉพาะผู้มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 เก็บอาวุธปืนของตนไว้แล้ว ผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ต่างลงจากรถ จำเลยที่ 1 มาบอกให้หยุดอย่าขยับตัว จึงเกิดแย่งปืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเข้ามาร่วมทำร้ายนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนมาก่อน จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานร่วมชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี แต่การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายในการชิงทรัพย์นั้น แม้จะเป็นอาวุธปืนของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงเอามาจากผู้เสียหายก็ตาม แต่การชิงทรัพย์ยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการชิงทรัพย์จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์ ดังนั้น เฉพาะจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับโทษหนักขั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายโดยใช้อาวุธปืน และจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามที่โจทก์นำสืบมาจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share