คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15140/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ เมื่อสืบพยานโจทก์ไป 1 ปาก จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ กรณีจึงเป็นไปตามข้อ 7 แห่งระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 พ.ศ.2548 ที่ระบุว่า “ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือคดีเสร็จไปโดยศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษา เช่น คดีที่โจทก์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือจำเลยถึงแก่ความตาย เป็นต้น หรือในกรณีที่มีการสืบพยานไว้ก่อนฟ้องคดีต่อศาล หรือไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือในคดีที่ทนายความปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงบางส่วน โดยไม่ได้เป็นความผิดของทนายความผู้นั้น และศาลเห็นว่ามีเหตุผลพิเศษที่ทนายความผู้นั้นควรได้รับเงินรางวัล ให้ศาลมีอำนาจสั่งจ่ายเงินรางวัลให้แก่ทนายความได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาท” การสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้จึงต้องเป็นไปตามอัตราที่ระบุไว้ในข้อดังกล่าว โดยไม่จำต้องอ้างอิงตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 ท้ายระเบียบ ที่ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความให้แก่ผู้ร้อง 2,000 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อำนาจในการกำหนดเงินรางวัลให้ทนายความ เป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสาม ประกอบระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 พ.ศ.2548 ข้อ 5 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฎีกาให้ศาลฎีกากำหนดเงินรางวัลทนายความใหม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92, 93, 335, 336 ทวิ จำเลยแถลงขอต่อสู้คดีกับแถลงว่าไม่มีและต้องการทนายความ ศาลชั้นต้นจึงตั้งผู้ร้องเป็นทนายความให้จำเลย ระหว่างพิจารณาผู้ร้องยื่นคำให้การจำเลย ไปศาลในวันนัดพร้อม ยื่นบัญชีพยานจำเลย ยื่นคำร้องขอเบิกตัวพยาน และซักค้านพยานโจทก์ 1 ปาก หลังจากสืบพยานโจทก์ดังกล่าวแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับเงินรางวัลทนายความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จ่ายเงินรางวัลทนายความ 2,000 บาท แก่ผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำตามตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ท้ายระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จ่ายเงินรางวัลทนายความในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ข้อ 7 ประกอบข้อ 4 ศาลจึงมีอำนาจที่จะสั่งให้จ่ายเงินรางวัลให้แก่ทนายความจำเลยตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยมิต้องคำนึงถึงอัตราเงินรางวัลขั้นต่ำที่กำหนดไว้ตามตารางท้ายระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมฯ ซึ่งมีการกำหนดอัตราขั้นต่ำและขั้นสูงไว้ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความให้ผู้ร้องชอบหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า กรณีไม่มีระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมฯ ข้อใดให้อำนาจศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งจ่ายเงินรางวัลต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำในตารางท้ายระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมฯ ได้นั้น เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ข้อ 4 ระบุว่า “อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และตารางท้ายระเบียบนี้” ดังนี้ อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 จึงมี 2 อัตรา กล่าวคือ อัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และอัตราที่กำหนดไว้ตามตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ท้ายระเบียบ การที่ศาลชั้นต้นจะสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความอัตราใดย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว คดีนี้เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ เมื่อสืบพยานโจทก์ไป 1 ปาก จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ กรณีจึงเป็นไปตามข้อ 7 แห่งระเบียบดังกล่าวที่ระบุว่า “ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือคดีเสร็จไปโดยศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษา เช่น คดีที่โจทก์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือจำเลยถึงแก่ความตาย เป็นต้น หรือในกรณีที่มีการสืบพยานไว้ก่อนฟ้องคดีต่อศาล หรือไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือในคดีที่ทนายความปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงบางส่วน โดยไม่ได้เป็นความผิดของทนายความผู้นั้น และศาลเห็นว่ามีเหตุผลพิเศษที่ทนายความผู้นั้นควรได้รับเงินรางวัล ให้ศาลมีอำนาจสั่งจ่ายเงินรางวัลให้แก่ทนายความได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาท” การสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามอัตราที่ระบุไว้ในข้อดังกล่าว โดยไม่จำต้องอ้างอิงตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ท้ายระเบียบ ที่ศาลชั้นต้นสั่งจ่าย เงินรางวัลทนายความให้แก่ผู้ร้อง 2,000 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาทำนองโต้แย้งดุลพินิจในการสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า อำนาจในการกำหนดเงินรางวัลให้ทนายความ เป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสาม ประกอบระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 พ.ศ. 2548 ข้อ 5 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฎีกาให้ศาลฎีกากำหนดเงินรางวัลทนายความใหม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share