คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามเสียสิทธิในที่ดินไปโดยตรงโจทก์ทั้งสามจึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการเบิกความเท็จของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)และมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 28(2) โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์ทั้งสามต้องเป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2เบิกความเท็จเท่านั้นจึงจะเป็นผู้เสียหายได้ ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1และที่ 2 ย่อมยกขึ้นฎีกาได้ แม้ไม่เคยยกขึ้นว่ามาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความอันเป็นเท็จว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1ขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงที่โจทก์ทั้งสามมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ส. โดยจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินทั้งสองแปลงจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงข้อความที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านและจำเลยที่ 2 เบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงมาประมาณ 20 ปี ข้อความที่จำเลยที่ 1และที่ 2 เบิกความดังกล่าวนั้นเป็นความเท็จความจริงจำเลยที่ 1 ไม่ได้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลง จน ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ข้อความเท็จ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ ในที่ดินทั้งสองแปลงโดยการครอบครองจริง จึงมีคำสั่ง ให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และนายสง่า เจียมปัญญารัชเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 16807 โจทก์ที่ 2 ที่ 3และนายสง่า เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 16806ที่ดินทั้งสองแปลงนี้อยู่ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมืองนครสวรรค์จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 จำเลยที่ 1นำความอันเป็นเท็จยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1130/2530 ขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว โดยอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้วข้อความที่จำเลยที่ 1 ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเป็นความเท็จต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2530 เวลากลางวันจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลและนำสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์ในคดีดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 เบิกความว่าเมื่อปี 2510 จำเลยที่ 1ได้ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงจากนายสง่า และนายสง่า ได้ไปขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 16806 และ 16807 ทับที่ดินของจำเลยที่ 1ต่อมานายสง่าใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 และนายสง่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 16807 และใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 ที่ 3และนายสง่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 16806แต่จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้เบิกความเป็นพยานว่าเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียง เห็นจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสามมาประมาณ 20 ปี ข้อความที่จำเลยทั้งสามเบิกความดังกล่าวนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงจำเลยที่ 1ไม่ได้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แต่อย่างใด และข้อความเท็จที่จำเลยทั้งสามเบิกความทั้งหมดเป็นข้อสำคัญในคดี ทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์จริง จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งศาลได้ใส่ชื่อตนในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและโอนให้บุคคลอื่นต่อไปแล้ว โจทก์ทั้งสามได้ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนอีกคดีหนึ่ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180, 83, 91 และนับโทษจำเลยต่อ
ก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ทั้งสามขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ให้ประทับฟ้องข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก มาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 4 ปี เนื่องจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 160/2532 ศาลยังมิได้พิพากษาจึงนับโทษต่อให้ไม่ได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 จำเลยที่ 1ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1130/2530 ขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองในที่ดินโฉนดเลขที่ 16806 ซึ่งมีชื่อโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และนายสง่า เจียมปัญหารัช เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และที่ดินโฉนดเลขที่ 16807 ซึ่งมีชื่อโจทก์ที่ 1 กับนายสง่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงนี้อยู่ตำบลนครสวรรค์อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2530 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้เบิกความในคดีดังกล่าวว่า เมื่อปี 2510 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งยังเป็นที่ดินมือเปล่าจากนายสง่า ต่อมานายสง่าได้ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 16807 และใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 กับที่ 3 เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 16806จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเวลา 20 ปีเศษ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านและจำเลยที่ 2 ได้เบิกความในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2มีที่ดินอยู่ใกล้เคียงที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว และเห็นจำเลยที่ 1ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงมาประมาณ 20 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2530 ศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองที่ดินทั้งสองแปลง ความจริงจำเลยที่ 1 ไม่ได้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความดังกล่าวอันเป็นเท็จ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าโจทก์ทั้งสามมิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความเท็จดังกล่าวจะทำให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่และฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) หรือไม่
ปัญหาข้อแรกนั้น เห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1130/2530ของศาลจังหวัดนครสวรรค์นั้น เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามเสียสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 16806 และ 16807 ไปโดยตรง โจทก์ทั้งสามจึงเป็นบุคคลผู้ใดรับความเสียหายเนื่องจากการเบิกความเท็จของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ทั้งสามย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2) โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์ทั้งสามต้องเป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความเท็จเท่านั้นจึงจะเป็นผู้เสียหายได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้างในฎีกาเกี่ยวกับปัญหานี้ก็หาได้วินิจฉัยว่าผู้เสียหายในคดีเบิกความเท็จจะต้องเป็นคู่ความในคดีที่มีการเบิกความเท็จแต่อย่างใดไม่
ปัญหาข้อหลังนั้น โจทก์ทำคำแก้ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และเป็นฎีกาที่ไม่มีสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่สมควรจะรับวินิจฉัยให้เห็นว่า ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมยกขึ้นฎีกาได้หาต้องห้ามฎีกาไม่ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยปัญหานี้ต่อไป เมื่อตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความอันเป็นเท็จว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงที่โจทก์ทั้งสามมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายสง่าโดยจำเลยที่ 1กล่าวอ้างในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินทั้งสองแปลงจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงข้อความที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 1ได้เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงมาเป็นเวลา20 ปีเศษ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และจำเลยที่ 2 เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงมาประมาณ 20 ปี ข้อความที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความดังกล่าวนั้นเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยที่ 1 ไม่ได้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองแต่อย่างใด ข้อความเท็จที่จำเลยที่ 1 และที่ 2เบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยที่ 1ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงโดยการครอบครองจริงจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว เห็นว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้างในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share