คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจประเภทบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และยังมีวัตถุประสงค์จัดหาที่ดินมาจำหน่ายแก่ประชาชนโดยตรงตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า มีกฎหมายบัญญัติบังคับห้ามมิให้โจทก์ซื้อหรือมีที่ดินหากซื้อที่ดินมากฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องขายไปในเวลาอันสมควร ดังนั้น เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดในราคา 3,500,000 บาท แล้วหลังจากนั้นเพียง 8 วัน โจทก์ขายไปในราคาถึง 7,000,000 บาท แสดงว่าการซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดของโจทก์ โจทก์ทราบดีว่าเป็นการซื้อเพื่อขายต่อ และการซื้อเพื่อขายต่อหากไม่ใช่เพื่อทางค้าหรือหากำไร โจทก์ก็คงจะไม่ลงทุนซื้อด้วยเงินจำนวนมากเช่นนี้ แม้โจทก์จะอ้างว่าจำเป็นต้องเข้าสู้ราคาซื้อที่ดินที่โจทก์รับจำนองไว้จากลูกค้าเพื่อให้ราคาที่ดินที่ขายทอดตลาดได้ราคาสูงคุ้มต้นเงินและดอกเบี้ยและโจทก์ขายให้กับบริษัทในเครือของโจทก์ก็ตาม โจทก์ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการขายของโจทก์เป็นทางค้าหรือหากำไรเข้าลักษณะเป็นรายรับตามประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงต้องนำรายรับมาเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 3.5 ของรายรับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน ๔๒๑,๓๘๓ บาท ๓๔ สตางค์ อ้างว่าโจทก์แสดงรายรับจากการขายที่ดินไว้ไม่ถูกต้องโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ซึ่งเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์มิได้ประกอบการค้าอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิข้อ ๓ (๔) การที่โจทก์ซื้อที่ดินมาเพียง ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท แล้วขายไปในระยะเวลาห่างกันเล็กน้อยในราคา ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทแสดงให้เห็นว่าโจทก์เล็งเห็นผลและมุ่งในการค้าหากำไร จำต้องนำรายรับมาเสียภาษีการค้าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจประเภทบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และเนื่องจากลูกหนี้ของโจทก์ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงได้ฟ้องบังคับจำนองและนำที่ดินออกขายทอดตลาด โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากการขายทอดตลาดของศาลได้ในราคา ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๑ ต่อมาวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน โจทก์ได้ขายต่อให้กับบริษัทสหสินพัฒนาการ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ ในราคา ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้ววินิจฉัยว่าตามคำฟ้องของโจทก์เองว่า มีกฎหมายบัญญัติบังคับห้ามมิให้โจทก์ซื้อหรือมีที่ดิน หากซื้อที่ดินมากฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องขายไปในเวลาอันสมควร แสดงว่าการซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดของโจทก์ โจทก์เองก็ทราบดีว่าเป็นการซื้อเพื่อขายต่อ และการซื้อเพื่อขายต่อหากไม่ใช่เพื่อทางค้าหรือหากำไร โจทก์ก็คงจะไม่ลงทุนซื้อด้วยเงินจำนวนมากเช่นนั้น ดังนั้นการขายที่ดินที่ซื้อจากการขายทอดตลาดในเวลาต่อมาของโจทก์จึงเชื่อได้ว่าเป็นทางค้าหรือหากำไร เข้าลักษณะเป็นรายรับตามประเภทการค้า ๑๑ การค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงต้องนำรายรับมาเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๓.๕ ของรายรับ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์จำเป็นต้องเข้าสู้ราคาซื้อที่ดินที่โจทก์รับจำนองไว้จากลูกค้าในการขายทอดตลาดของศาลเสียเองก็เพราะจำต้องปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของโจทก์ เพื่อให้ราคาที่ดินที่ขายทอดตลาดได้ราคาสูงคุ้มต้นเงินและดอกเบี้ยนั้น โจทก์อ้างว่าทำให้โจทก์ต้องสละสิทธิในการบังคับจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ เหตุผลของโจทก์แสดงอยู่ในตัวเองว่าโจทก์สามารถบังคับเอาทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้แต่โจทก์กลับไม่ใช้สิทธินั้น โจทก์กลับเข้าประมูลสู้ราคาในการขายทอดตลาดของศาลเสียเอง โจทก์จึงหาชอบที่จะอ้างความจำเป็นแต่ประการใดไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าหลังจากซื้อที่ดินดังกล่าวแล้ว มีกฎหมายบังคับให้โจทก์ขายที่ดินภายใน ๓ ปี โจทก์จึงได้ขายให้กับบริษัทสหสินพัฒนาการ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทโจทก์นั่นเอง แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังโจทก์ฎีกา แต่จากพฤติการณ์ที่โจทก์ซื้อที่ดินในราคา ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท แล้วหลังจากนั้นเพียง ๘ วันโจทก์ก็ขายไปในราคาถึง ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การขายของโจทก์เป็นทางค้าหรือหากำไร แม้โจทก์จะขายให้กับบริษัทในเครือของโจทก์ก็ตาม นอกจากนี้การที่โจทก์กล่าวอ้างตลอดมาว่าบริษัทโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ค้าอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่วัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์ข้อ ๓ (๔) ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ เป็นเรื่องจัดหาที่ดินมาจำหน่ายแก่ประชาชนโดยตรง และอ้างว่าโจทก์ขายที่ดินเพียงครั้งเดียวเพื่อให้ตรงกับคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๖๗/๒๕๒๔ ระหว่าง บริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด โจทก์ กรมสรรพากรจำเลย ซึ่งโจทก์ได้อ้างมาในฎีกา แต่คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวก็หาได้พิเคราะห์แต่เพียงวัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท และจำนวนครั้งที่ขายแต่เพียงประการเดียวไม่แต่ได้ดูพฤติการณ์ทั่ว ๆ ไปประกอบด้วย ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ตรงกับคดีนี้ สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะเสียภาษีการค้ามาแล้วในอัตราร้อยละ ๒.๕ ของกำไรที่ได้รับแต่ก็ไม่ถูกต้อง เพราะที่ถูกโจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๓.๕ ของรายรับตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภทการค้า ๑๑ การค้าอสังหาริมทรัพย์
พิพากษายืน.

Share