คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหัวหน้าแผนกคลัง แม้จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังจัดเวรยามเฝ้าดูแลบริเวณรอบนอกคลังพัสดุที่เก็บทรัพย์สินของทางราชการตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว แต่ทรัพย์สินที่หายได้เก็บรักษาไว้ในตู้เหล็กในคลังพัสดุโดยไม่ได้ใส่กุญแจ เพียงแต่ใช้กระดาษเขียนชื่อเจ้าหน้าที่ปิดไว้เท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่หายก็มีขนาดเล็ก สามารถเอาแอบซุกซ่อนไปกับตัวได้โดยสะดวก เมื่อปรากฏว่า คนร้ายที่ลักทรัพย์ดังกล่าวไปเป็นเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยเอง จึงถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อแล้ว เพราะการที่จะป้องกันทรัพย์สินให้พ้นจากการลักขโมยของคนภายในด้วยกันเองนั้น นอกจากจะต้องเก็บรักษาไว้ในสถานที่อันเหมาะสมกับลักษณะของตัวทรัพย์แล้ว ยังจะต้องอยู่ในสภาพที่ยากต่อการที่บุคคลจะหยิบฉวยเอาไปได้โดยง่ายอีกด้วย
กรณีที่พัสดุของทางราชการได้จัดหามาโดยการซื้อขายพอเป็นพิธีเพื่อมิให้ขัดต่อระเบียบของทางราชการ และราคาที่จัดซื้อมาก็ต่ำต่างกับราคาที่แท้จริงมาก การจะให้ผู้ต้องรับผิดชดใช้ราคาของทรัพย์สินนั้น ต้องถือตามราคาที่แท้จริง
ข้าราชการกองทัพเรือประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของกองทัพเรือสูญหายไป อายุความ 1 ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้บัญชาการทหารเรือได้ลงนามรับทราบรายงานผลการสอบสวนว่าจำเลยจะต้องรับผิด มิใช่เริ่มนับในวันที่รู้ว่าเกิดมีการทำละเมิดขึ้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งรับราชการตำแหน่งหัวหน้าแผนกคลังกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมตรวจตราเก็บรักษาพัสดุตามหน้าที่ราชการ ไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการไม่สำรวจรายงานสถานะพัสดุประจำปี เป็นเหตุให้พัสดุภายในคลังสูญหายไป ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยรอบคอบ และสำรวจรายงานสถานะพัสดุกับรายงานผู้บังคับบัญชาทุกปี ทรัพย์ที่หายโจทก์ซื้อมาราคาเพียง ๔,๙๓๐ บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย เพราะจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังโดยจัดเวรยามเฝ้าดูแลคลังพัสดุที่เก็บทรัพย์สินของทางราชการตลอด ๒๔ ชั่วโมง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามระเบียบข้อบังคับและเหมาะสมกับสภาพการณ์แล้วสำหรับปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า อะไหล่เครื่องยนต์เกรย์มารีนที่หายไปทั้งหมด ๒,๕๐๖ ชิ้น ได้เก็บรักษาไว้ในตู้เหล็กรวม ๓ ใบ แต่มิได้คล้องและลั่นกุญแจ เพียงแต่ใช้กระดาษเขียนชื่อเจ้าหน้าที่ปิดไว้เฉยๆ นาวาตรีสุรพันธ์ผู้ช่วยของจำเลยได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รีบดำเนินการอย่างใดเพื่อให้ทรัพย์สินดังกล่าวได้เก็บรักษาไว้ในสภาพที่มั่นคงและปลอดภัย จนกระทั่งผลสุดท้ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้ถูกลักไปทั้งหมด ในเบื้องต้นจึงเห็นได้ว่าเป็นเพราะความบกพร่องหละหลวมไม่ได้รับการเอาใจใส่ในการเก็บรักษาเท่าที่ควรสิ่งของเหล่านั้นจึงถูกปล่อยไว้ในสภาพที่จะหยิบฉวยเอาไปได้โดยง่าย เพราะนอกจากจะเก็บไว้ในลักษณะที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าวแล้ว ทรัพย์เหล่านี้ยังมีขนาดเล็ก ซึ่งผู้ที่คิดจะลักขโมยสามารถเอาแอบซุกซ่อนไปกับตัวให้พ้นจากสายตาบุคคลทั่วไปได้โดยสะดวก จำเลยย่อมทราบดีว่าการป้องกันการโจรกรรมจากบุคคลภายนอกนั้น ง่ายกว่าป้องกันการลักขโมยจากคนภายในด้วยกันเองเพราะเป็นการยากที่จะติดตามดูแลโดยใกล้ชิดได้ตลอดเวลา ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้การที่จะป้องกันทรัพย์ให้ปลอดภัย นอกจากจะต้องเก็บรักษาไว้ในสถานที่อันเหมาะสมกับลักษณะของตัวทรัพย์แล้ว ยังจะต้องอยู่ในสภาพที่ยากต่อการที่บุคคลทั่วไปจะหยิบฉวยเอาไปได้โดยง่ายอีกด้วย และคนร้ายรายนี้ หาใช่บุคคลภายนอกไม่ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ภายในแผนกคลังซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยนั่นเอง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่เอาใจใส่ดูแลเก็บรักษาทรัพย์ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยเท่าที่ควร ทั้งจำเลยยังยอมรับว่า ในฐานะที่ตนมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกคลัง ตามระเบียบจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นที่จำเลยฎีกาโต้แย้งในข้อเท็จจริง และพยายามยกเหตุผลเพื่อชี้ให้เห็นว่า ทรัพย์ที่หายไปครั้งนี้น่าจะเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก ซึ่งจำเลยก็ได้ใช้ความระมัดระวังป้องกัน พร้อมทั้งจัดเวรยามดูแลบริเวณรอบนอกคลังพัสดุตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยเหมาะสมตามสภาพการณ์แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยนั้น จึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า อะไหล่เครื่องยนต์เกรย์มารีนที่หายไปนี้กองทัพเรือขอซื้อมาจากกรมศุลกากรในราคาเพียง ๔,๙๐๐ บาทหากจำเลยจะต้องรับผิดก็ไม่ควรเกินไปจากจำนวนเงินดังกล่าวสำหรับปัญหานี้ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังยุติเช่นเดียวกันว่าอะไหล่เครื่องยนต์ที่หายนี้เรือรบหลวงพงันได้นำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม ทางกองทัพเรือประสงค์จะได้เครื่องอะไหล่เหล่านี้ไว้ใช้ในราชการของกองทัพเรือจึงได้ติดต่อกับกรมศุลกากร แต่จะเอาไว้เปล่าๆ ก็ไม่ได้ เพราะผิดระเบียบ จึงต้องทำเป็นซื้อขายอำพรางการให้ในราคาเพียงสี่พันบาทเศษ ซึ่งต่างกับราคาที่แท้จริงในท้องตลาดมากจนประมาณราคาไม่ได้ และปรากฏว่าหลังจากเกิดเหตุแล้ว ทางกองทัพเรือได้ติดต่อสอบถามราคาจากเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาจึงทราบว่าเป็นเงินถึง ๒๖,๒๒๗.๑๗ เหรียญ ซึ่งคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ ๕๒๔,๕๔๓.๔๐ บาทจำเลยจึงต้องรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวตามมูลค่าของทรัพย์ที่แท้จริง มิใช่ในราคา ๔,๙๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาที่กองทัพเรือซื้อมาจากกรมศุลกากรพอเป็นพิธีเพื่อมิให้ขัดต่อระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่าความรับผิดของจำเลยไม่ควรเกินไปจากวงเงิน ๔,๙๐๐ บาท จึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว นาวาเอกประชุมซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยได้รายงานด่วนให้ผู้บัญชาการทหารเรือทราบ ตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๒๐ ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกิน ๑ ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ สำหรับปัญหานี้ ปรากฏว่าหลังจากเกิดเหตุทางกองทัพเรือได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนเพื่อหาตัวบุคคลผู้ต้องรับผิดในทางแพ่งและผลการสอบสวนของคณะกรรมการดังกล่าวได้เสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการทหารเรือว่า จำเลยเป็นบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งปรากฏต่อมาว่าผู้บัญชาการทหารเรือได้ลงนามรับทราบเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๒ จึงต้องถือว่าในวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ตัวผู้ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับโจทก์ อายุความ ๑ ปี จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ มิใช่เริ่มนับในวันที่รู้ว่าเกิดมีการทำละเมิดขึ้น เพราะขณะนั้นโจทก์ยังไม่อาจทราบได้ว่าจะฟ้องผู้ใดให้ต้องรับผิด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๓ จึงอยู่ภายในกำหนด เวลา ๑ ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน.

Share