คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224-2225/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีอาญาโจทก์และจำเลยจะขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำร้องของจำเลยทั้งสองหาได้ไม่ แต่เมื่อเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว เมื่อจำเลยไม่คัดค้าน โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และมีผลให้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองระงับไปด้วยในตัว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำนวนแรกลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 35,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน สำนวนที่สองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 14 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้สองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 สำนวนแรกมีกำหนด 4 เดือน และสำนวนที่ 2 มีกำหนด 5 เดือน ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปโดยไม่นับโทษติดต่อกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองสามารถตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่แนบท้ายคำร้องขอให้ศาลฎีกาออกนั่งพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และโจทก์ทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับคำร้องของจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นคดีอาญา โจทก์และจำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาตามยอมตามคำร้องของจำเลยทั้งสองหาได้ไม่ ให้ยกคำร้อง ส่วนคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองสำนวนถอนฟ้องได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และมีผลให้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองระงับไปด้วยในตัว ให้จำหน่ายคดีทั้งสองสำนวนนี้เสียจากสารบบความ”

Share