คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622-5623/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้น แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ในคดีล้มละลายดังกล่าว มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 6 ราย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 3 ยื่นขอรับชำระหนี้มูลหนี้ตามคำพิพากษาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 (จำเลยที่ 1) แบบเจ้าหนี้ไม่มีประกัน จากนั้นจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้รวมทั้งโจทก์ยอมรับ ไม่คัดค้านการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ และศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้ว ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 1 ทุจริตหรือกระทำความผิดอันมีโทษทางอาญาเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้มีข้อความลำดับการใช้หนี้ก่อนหลังถูกต้องตามกฎหมายล้มละลาย เจ้าหนี้มีมติยอมรับ คำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 การประนอมหนี้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป ไม่ได้เปรียบแก่กัน จึงมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ ให้ยกเลิกการล้มละลาย และให้ลูกหนี้ที่ 1 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน ทั้งยังปรากฏว่าต่อมาโจทก์โดย ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจแล้ว ไม่ประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้อีกต่อไป จึงขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ดังนี้โจทก์จึงผูกมัดโดยข้อตกลงในการประนอมหนี้ดังกล่าวในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 ประกอบมาตรา 56 และทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้นต่อโจทก์อีกต่อไป นอกจากนี้ หากจะรับฟังว่าการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามตกเป็นโมฆะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็มิได้หมายความว่า การประนอมหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบต้องถูกยกเลิกไปตามผลแห่งคำพิพากษา ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกองล้มละลายสามารถยื่นขอรับชำระหนี้จากที่ดินพิพาทได้ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์หากนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทที่กล่าวอ้างในคดีนี้ว่าเป็นโมฆะเป็นผลหรือไม่เป็นหรือกลับกัน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในที่ดินพิพาท ที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 11304, 26280, 26281, 6914, 6915 ตำบลบางโพงพาง อำเภอยานนาวา (เมือง) กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2546 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 โดยให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเพิกถอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากเพิกเฉยขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสาม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นบิดาจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ปัจจุบันมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ได้ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ 32,867,457.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 30,563,914 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2542) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ วันที่ 14 ตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 11304, 26280, 26281, 6914 และ 6915 ตำบลบางโพงพาง อำเภอยานนาวา (เมือง) กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 10 กันยายน 2550 นายสุเทพ ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ล.911/2551 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 โจทก์นำหนี้ในคดีแพ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยื่นขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้รายที่ 3 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงดุสิต เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3062/2552 ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ระหว่างพิจารณาของศาลแขวงดุสิตมีการไกล่เกลี่ย โจทก์ตกลงรับเงินจากบุคคลภายนอกซึ่งจะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และขอถอนฟ้อง ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งอนุญาต สำหรับคดีล้มละลายจำเลยที่ 1 ได้ขอประนอมหนี้หลังล้มละลาย ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ก่อนว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้เพราะหากการโอนที่ดินพิพาททั้งหมดตกเป็นโมฆะ จะทำให้การโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันที่ 14 ตุลาคม 2546 และการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ถูกเพิกถอน กลับเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ก่อนล้มละลาย นำมาชำระหนี้กองล้มละลายได้ และจะทำให้การประนอมหนี้ที่ศาลเห็นชอบต้องถูกยกเลิกเพราะมีการปกปิดทรัพย์สินโดยลูกหนี้ผู้ขอประนอมหนี้ (จำเลยที่ 1) ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกองล้มละลายยื่นรับชำระหนี้จากที่ดินพิพาทได้ ถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ในคดีล้มละลายดังกล่าว มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 6 ราย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 3 ยื่นขอรับชำระหนี้มูลหนี้ตามคำพิพากษาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 (จำเลยที่ 1) แบบเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เป็นเงิน 52,797,105 บาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้รวมทั้งโจทก์ยอมรับ ไม่คัดค้านการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ และศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้ว ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 1 ทุจริตหรือกระทำความผิดอันมีโทษทางอาญาเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้มีข้อความลำดับการใช้หนี้ก่อนหลังถูกต้องตามกฎหมายล้มละลาย เจ้าหนี้มีมติยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 การประนอมหนี้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบแก่กัน จึงมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ ให้ยกเลิกการล้มละลาย และให้ลูกหนี้ที่ 1 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 วรรคสอง ตามคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ทั้งยังปรากฏว่าในวันที่ 14 ตุลาคม 2552 โจทก์โดยนายเลิศ ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจแล้ว ไม่ประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้อีกต่อไป จึงขอถอนคำขอ รับชำระหนี้ ดังนี้ โจทก์จึงถูกผูกมัดโดยข้อตกลงในการประนอมหนี้ดังกล่าวในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 ประกอบมาตรา 56 และทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้นต่อโจทก์อีกต่อไป นอกจากนี้ หากจะรับฟังว่าการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามตกเป็นโมฆะ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็มิได้หมายความว่า การประนอมหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบต้องถูกยกเลิกไปตามผลแห่งคำพิพากษา ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกองล้มละลายสามารถยื่นขอรับชำระหนี้จากที่ดินพิพาทได้ ทั้งยังปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ขอให้ยกเลิกการประนอมหนี้ เพราะการประนอมหนี้ไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมและศาลเห็นชอบด้วยเพราะถูกหลอกลวงทุจริต อ้างว่าจำเลยทั้งสามคดีนี้แสดงเจตนาลวงโอนขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ร้องบังคับคดีแก่ทรัพย์ดังกล่าวชำระหนี้ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้นัดไต่สวน อันเป็นมูลกรณีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ไว้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2557 แล้ว กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์หากนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทที่กล่าวอ้างในคดีนี้ว่าเป็นโมฆะ เป็นผลหรือไม่เป็นหรือกลับกัน ดังที่โจทก์อ้างในฎีกา โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในที่ดินพิพาท ที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกข้อที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามชอบหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share