คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น ดังนั้น นอกจากจำเลยทั้งสองจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยทั้งสองต้องให้การโดยแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า มารดาจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา เมื่อมารดาถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ถึงปัจจุบันโจทก์ไม่เคยโต้แย้งและคัดค้าน โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่านับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกอะไรบ้างรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ คำให้การของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความและเป็นการไม่ชอบ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของนายพิมพ์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 534/2553 ของศาลชั้นต้น และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 15030 ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิมพ์ และเพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิมพ์กับจำเลยที่ 2 และให้ใส่ชื่อนายพิมพ์ในฐานะเจ้ามรดกในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 15030 ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 15030 ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์และนายหวางเป็นบุตรของนายพิมพ์กับนางบาง นายพิมพ์กับนางบางถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2556 นายหวางซึ่งไม่มีคู่สมรสถึงแก่ความตาย ก่อนที่นายพิมพ์จะมาอยู่กินฉันสามีภริยากับนางบาง นายพิมพ์กับนางจันทร์มีบุตรด้วยกัน คือ นายสันต์ นายแก้ว จำเลยที่ 1 และนางคำ โดยนางจันทร์ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนที่นายพิมพ์จะมาอยู่กินฉันสามีภริยากับนางบาง นายสันต์ นายแก้ว และนางคำ ถึงแก่ความตายแล้ว โดยนางคำถึงแก่ความตายหลังจากนายพิมพ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนางคำ ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 15030 ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม มีชื่อนายพิมพ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ วันที่ 26 มีนาคม 2553 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายพิมพ์ วันที่ 7 เมษายน 2553 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทแก่ตนเองในฐานะผู้จัดการมรดก และในวันเดียวกันได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ระบุว่าขายเพื่อชำระหนี้กองมรดกในราคา 500,000 บาท
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนางจันทร์มารดาจำเลยที่ 1 โดยได้รับยกให้จากบิดามารดาของนางจันทร์ จึงมิใช่ทรัพย์มรดกของนายพิมพ์ นายพิมพ์สละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยมอบการครอบครองแก่นางคำ ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดก นางคำและจำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางจันทร์มารดาจำเลยที่ 1 แต่จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางจันทร์ตามที่ให้การ โดยนำสืบว่าเป็นของนายพิมพ์ ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาต่อมาว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางจันทร์ จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 และจำเลยทั้งสองมิได้ให้การอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายพิมพ์ด้วยเหตุนายพิมพ์สละการครอบครองที่ดินพิพาท และมิได้ให้การว่านางคำและจำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยการครอบครองปรปักษ์ตามที่ฎีกาแต่อย่างใด จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เช่นกัน ทั้งฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความมรดก ด้วยเหตุโจทก์ไม่ได้ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดก ภายในหนึ่งปี นับแต่นายพิมพ์ถึงแก่ความตาย นางคำและจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องกันมากว่า 10 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย ดังนั้น นอกจากจำเลยทั้งสองจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วจำเลยทั้งสองต้องให้การโดยแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า นางคำมารดาจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปีมาแล้ว และเมื่อนางคำถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ถึงปัจจุบันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปีมาแล้ว โจทก์ไม่เคยโต้แย้งและคัดค้าน โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่านับแต่นายพิมพ์ถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกอะไรบ้างรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ซึ่งคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องฟ้องคดีมรดก และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องตั้งแต่เมื่อใด นับแต่วันใดถึงวันฟ้อง คดีจึงขาดอายุความไปแล้ว คำให้การของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความและเป็นการไม่ชอบ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ฎีกาของจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้นางคำตามคำสั่งนายพิมพ์ และขอเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อให้ถูกต้องตามวิธีโอนสิทธิเนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแก่จำเลยที่ 2 โดยมีค่าตอบแทน ชอบด้วยกฎหมายแล้ว นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายพิมพ์เจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรม เมื่อนายพิมพ์ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของนายพิมพ์และในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิมพ์โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายพิมพ์ให้แก่ตนเองในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจดทะเบียนโอนขายต่อไปให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของนางคำทายาทของนายพิมพ์ มิได้โอนเป็นมรดกให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาท ย่อมเป็นการโอนหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่าแม้จดทะเบียนระบุว่าขายเพื่อชำระหนี้กองมรดกในราคา 500,000 บาท แต่ไม่มีการชำระเงิน จึงมิใช่การกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน โจทก์จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ที่ศาลล่างพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share