คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14666/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้างลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด” เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าภายหลังจากลูกจ้างโจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานจำเลยสอบสวนแล้วมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 111/2550 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2550 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้าง ค่าชดเชยและคืนเงินประกันความเสียหายแก่ลูกจ้างโจทก์โดยวินิจฉัยด้วยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากโจทก์ การที่โจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยเป็นคดีนี้ กรณีจึงมีประเด็นแห่งคดีเพียงว่ามีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้าง ค่าชดเชยและคืนเงินประกันความเสียหายแก่ลูกจ้างโจทก์หรือไม่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าลูกจ้างโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของจำเลยและนำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คำสั่งของจำเลยในส่วนสินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างโจทก์เกินไปกว่าคำสั่งของจำเลยซึ่งคำสั่งในส่วนนั้นถึงที่สุดไปแล้ว ทั้งมิใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ได้ จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 111/2550 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2550
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 111/2550 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2550 โดยให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างโจทก์ตามกฎหมายด้วย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จ้างนางสาวน้ำผึ้ง เป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 ตำแหน่งหัวหน้าแผนกการเงิน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,628 บาท โดยเป็นเงินเดือน 10,028 บาท ค่าครองชีพ 1,000 บาท ค่าประสบการณ์การทำงาน 766 บาท ค่าบรรจุ 500 บาท ค่าบริการ 2,334 บาท และค่าอาหารเดือนละ 600 บาท โจทก์เรียกเก็บเงินประกันความเสียหายจากลูกจ้างโจทก์ 11,000 บาท ระหว่างการทำงานตั้งแต่ปลายปี 2549 มีเงินสูญหาย 5 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งลูกจ้างโจทก์ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้เงินให้โจทก์ โดยไม่ได้แจ้งเรื่องเงินหายให้โจทก์ทราบ จนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ลูกจ้างโจทก์ให้นางสาวกาญจนา พนักงานบัญชีเป็นผู้ตรวจนับเงินสดรับในซองบรรจุเงินจำนวน 36 ซอง ซึ่งเป็นการรับเงินในช่วงเวลาตั้งแต่บ่ายวันที่ 15 ถึงเช้าวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ในระหว่างนั้น นางสาวนันทนา รองหัวหน้าแผนกการเงินได้เข้ามาและช่วยนับเงินด้วย แล้วส่งมอบให้ลูกจ้างโจทก์ตรวจนับและนำฝากธนาคาร ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2550 นางสาวสุนันธินี แผนกบัญชีตรวจสำเนาใบเสร็จรับเงินพบว่ามีเงินสดรับจำนวน 21,041.75 บาท และเงินสดรับจากการชำระด้วยบัตรเครดิตจำนวน 45,469.79 บาท ซึ่งเป็นเงินสดรับในช่วงที่นางสาวนันทนาเป็นผู้รับในช่วงเวลาที่เข้าเวรการเงินยังไม่ได้นำฝากในบัญชีเงินสดรับของโจทก์ โจทก์สอบสวนแล้วเห็นว่าเป็นการสูญหายในขั้นตอนการเก็บรักษาซึ่งเป็นหน้าที่ของลูกจ้างโจทก์และเคยมีเงินหายทำนองนี้มาหลายครั้งแล้ว ลูกจ้างโจทก์ให้ผู้ที่รับผิดชอบชดใช้เงินโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข ทำให้โจทก์เสียหายอย่างร้ายแรง จึงเลิกจ้างลูกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย อายัดค่าจ้างช่วงสุดท้ายและเงินประกันความเสียหายไว้ ลูกจ้างโจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า ลูกจ้างโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ความเสียหายไม่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นเหตุให้โจทก์เลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้าง คืนเงินประกันความเสียหายและจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างโจทก์ นายไพศาลเป็นผู้เก็บรักษากุญแจตู้เซฟที่ใช้เก็บเงินที่หายนี้แต่ผู้เดียวแต่ไม่มีรหัสเปิดตู้เซฟ โดยลูกจ้างโจทก์หัวหน้าแผนกการเงินกับนางสาวนันทนา รองหัวหน้าแผนกการเงินทราบรหัสเพียงสองคน ตามปกตินางสาวกาญจนาจะเป็นผู้ไปขอกุญแจจากนายไพศาลมาให้ลูกจ้างโจทก์เปิดตู้เซฟเอาซองใส่เงินออกมาตรวจนับ เมื่อจำนวนเงินตรงกับหลักฐานการรับเงินจึงลงลายมือชื่อผู้ตรวจและผู้รับตรวจโดยบางครั้งนางสาวนันทนามาช่วยนับด้วย และหากวันใดลูกจ้างโจทก์ไม่มาทำงาน นางสาวกาญจนาจะขอกุญแจจากนายไพศาลมาให้นางสาวนันทนาเปิดตู้เซฟเอาเงินออกมาตรวจนับแทน ก่อนเกิดเหตุครั้งนี้เคยมีเงินหายหลายครั้ง ซึ่งลูกจ้างโจทก์แก้ปัญหาโดยให้ผู้ที่รับผิดชอบชดใช้เงินโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ แต่ในเหตุเงินหายครั้งนี้ไม่มีผู้รับผิดชอบ ลูกจ้างโจทก์จึงแจ้งให้ทราบเพื่อสอบสวนหาผู้รับผิด หลังจากสอบสวนแล้วครั้งแรกโจทก์จะสั่งพักงานลูกจ้างโจทก์กับนางสาวนันทนา แต่ต่อมามีคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างโจทก์เพียงคนเดียว โดยโจทก์เห็นว่าซองเงินหายไปในขั้นตอนการเก็บรักษาซึ่งเป็นหน้าที่ของลูกจ้างโจทก์ และมีเงินหายหลายครั้งแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่รายงานให้โจทก์ทราบ โจทก์ไม่ได้กล่าวหาว่าลูกจ้างโจทก์ทุจริตหรือจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่เคยมีหนังสือตักเตือนว่าลูกจ้างโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่เห็นว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นกรณีร้ายแรงเพราะโจทก์กำลังขาดเงินสดหมุนเวียน เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนสะสมหลายร้อยล้านบาท แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่ลูกจ้างโจทก์ไม่รายงานให้โจทก์ทราบเมื่อมีเหตุเงินหายในครั้งก่อน ๆ แต่ให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้เงินให้โจทก์ก็ดี การที่ยินยอมให้นางสาวนันทนาอยู่ด้วยขณะทำการตรวจนับเงินและช่วยนับเงินก็ดี ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หรือประมาทเลินเล่อ เพราะในทางปฏิบัติหากลูกจ้างโจทก์ไม่มาทำงาน นางสาวนันทนาจะปฏิบัติหน้าที่แทน และในครั้งเกิดเหตุลูกจ้างโจทก์ก็ได้ทำการตรวจนับอีกครั้งภายหลังจากที่นางสาวกาญจนากับนางสาวนันทนาตรวจนับแล้ว กรณีถือได้ว่าลูกจ้างโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และไม่จ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 111/2550 แต่เห็นสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่งในส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า ลูกจ้างโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเพราะซองบรรจุเงินที่ลูกจ้างนำออกจากตู้นิรภัยมาไว้บนโต๊ะลูกจ้างโจทก์มีจำนวน 36 ซอง แต่ลูกจ้างโจทก์ตรวจนับเงินสดและหลักฐานการเงินได้เงินเพียง 858,660.50 บาท ซึ่งเป็นเงินสดและหลักฐานที่ได้จากซอง 35 ซอง ซองบรรจุเงินและหลักฐานการเงินสูญหายไป 1 ซอง จึงเป็นการสูญหายในขั้นตอนการเก็บรักษาขณะตรวจนับ ลูกจ้างโจทก์มิได้เอาใจใส่ควบคุมเงินให้ครบถ้วนบนโต๊ะอย่างเต็มที่เพราะยินยอมให้นางสาวนันทนาเป็นผู้ช่วยตรวจนับแทน ทั้งความเสียหายก็เป็นจำนวนเงินถึง 66,511.54 บาท ในช่วงเวลาที่โจทก์ประสบปัญหาการเงินอยู่ด้วย จึงเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง อันเป็นกรณีที่โจทก์สามารถเลิกจ้างลูกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างโจทก์จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างโจทก์เป็นหัวหน้าแผนกการเงิน ในวันที่ 18 มิถุนายน 2550 หลังจากนางสาวกาญจนา พนักงานบัญชีและนางสาวนันทนา รองหัวหน้าแผนกการเงินช่วยกันตรวจนับเงินแล้ว ลูกจ้างโจทก์ยังตรวจนับอีกครั้งก่อนนำฝากธนาคาร ข้อเท็จจริงเพิ่งปรากฏจากการตรวจสำเนาใบเสร็จรับเงินของแผนกบัญชีในวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ว่า มีเงินสดรับจำนวน 21,041.75 บาท และเงินสดรับจากการชำระด้วยบัตรเครดิตจำนวน 45,469.79 บาท ซึ่งเป็นเงินสดรับในซองที่นางสาวนันทนาเป็นผู้รับในช่วงเวลาที่เข้าเวรการเงินยังไม่ได้นำฝากในบัญชีเงินสดรับของโจทก์ มิได้ฟังข้อเท็จจริงว่าซองบรรจุเงินสดและหลักฐานการเงินรวมเป็นเงิน 66,511.54 บาท สูญหายไปในขณะที่มีการตรวจนับอันเป็นการสูญหายไปในขั้นตอนการตรวจนับ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเพื่อให้ศาลฎีกาเห็นว่าการสูญหายเกิดขึ้นในขณะตรวจนับอันเป็นความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วยังให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างโจทก์ด้วย ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ลูกจ้างโจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงิน โจทก์ประสบปัญหาเงินสูญหายบ่อยครั้ง แต่ลูกจ้างโจทก์ปกปิดไว้มิให้โจทก์ล่วงรู้ ครั้งสุดท้ายโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมาก จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างโจทก์กระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์จึงเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างโจทก์ ทั้งคดีนี้โจทก์ขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยเฉพาะส่วนที่จำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และคืนเงินประกันความเสียหายให้แก่ลูกจ้างโจทก์เท่านั้น แต่ศาลแรงงานกลางกลับสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านอกเหนือคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ทั้งมิได้คำนึงถึงฐานะกิจการของโจทก์ จึงมิใช่เป็นกรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 48 และมาตรา 52 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด” เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าภายหลังจากลูกจ้างโจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานจำเลยสอบสวนแล้วมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 111/2550 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2550 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้าง ค่าชดเชยและคืนเงินประกันความเสียหายแก่ลูกจ้างโจทก์ โดยวินิจฉัยด้วยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากโจทก์ การที่โจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยเป็นคดีนี้ กรณีจึงมีประเด็นแห่งคดีเพียงว่ามีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้าง ค่าชดเชยและคืนเงินประกันความเสียหายแก่ลูกจ้างโจทก์หรือไม่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าลูกจ้างโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของจำเลยและนำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คำสั่งของจำเลยในส่วนสินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างโจทก์เกินไปกว่าคำสั่งของจำเลยซึ่งคำสั่งในส่วนนั้นถึงที่สุดไปแล้ว ทั้งมิใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความที่ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 52 ได้ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่โจทก์จ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างโจทก์จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share