คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นฎีกาว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ผู้พิพากษาลงลายมือชื่อรับรองตามกฎหมายแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมมีกำหนดโทษขั้นต่ำ 3 เดือน อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า “คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด…” ดังนั้น การพิจารณาว่าจำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าไม่ได้กระทำความผิดได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา คือ พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปรับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 3 เดือน นับแต่วันพิพากษา อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้อนุญาต จึงเป็นการไม่ชอบ ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2559)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายไพรัตน์ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ก่อนเริ่มสืบพยาน โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 5,510 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ 50,000 บาท ค่าทำขวัญ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 105,510 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 3 เดือน นับแต่วันพิพากษา โดยหักวันควบคุมให้ด้วย ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 25,510 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมมีกำหนด 3 เดือน นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ผู้พิพากษาลงลายมือชื่อรับรองตามกฎหมายแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดแต่ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 เดือน อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า “คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด…” ดังนั้น การพิจารณาว่าจำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าไม่ได้กระทำความผิดได้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดาคือพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปรับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 3 เดือน นับแต่วันพิพากษา อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้อนุญาต จึงเป็นการไม่ชอบ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงหนัก บาดแผลของโจทก์ร่วมใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน ขณะกระทำความผิดจำเลยเป็นผู้เยาว์กระทำในขณะมึนเมาด้วยความคึกคะนอง หลังเกิดเหตุจำเลยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว โจทก์ร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป นับว่าจำเลยรู้สึกสำนึกในความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของตนตามสมควรแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาจึงเปลี่ยนแปลงไป เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดและต้องโทษจำคุกมาก่อน การส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในระยะสั้นไม่น่าจะเหมาะสม ควรให้บิดามารดาอบรมดูแลจักเป็นประโยชน์แก่จำเลยมากกว่า กรณีมีเหตุสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี เห็นควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยมีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share