คำสั่งคำร้องที่ 210/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์โจทก์ในข้อ 4 แม้จะเป็นข้อกฎหมาย แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวมิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นนอกนั้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 4 ปรากฏหลักฐานในคำฟ้องคำให้การการแถลงในศาลและในการแถลงการณ์ปิดคดี อีกทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและอุทธรณ์ข้อ 1 ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลังจากงานสิ้นสุดลงแล้ว จึงมีปัญหาว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้วหรือยัง และข้อ 3 ว่า จำเลยใช้สิทธิหรืออำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริต ซึ่งอุทธรณ์ทั้งสองข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ทนายจำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 66)
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานคำสั่งที่ 12/2530 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 และให้กองทุนเงินทดแทนของจำเลยงดหรือยกเลิกการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายให้แก่ตัวแทนคนงานและคนงานที่เรียกร้องเงินทดแทนทั้งห้าคน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 63)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 64)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้สั่งให้ลูกจ้างเดินทางไปรับค่าจ้างที่สำนักงานของโจทก์จริงการที่โจทก์นำรถยนต์ไปรับลูกจ้างจากสถานที่ทำงานไปรับค่าจ้างที่สำนักงานของโจทก์แล้วเกิดอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำเป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตายถือว่าลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง เช่นนี้ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2 ว่า ตามที่ศาลรับฟังว่าคนงานกำลังจะเดินทางไปรับค่าจ้างยังไม่ชัดเจนนักพยานบุคคลที่จำเลยนำสืบยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่า คนงานกำลังจะเดินทางไปรับค่าจ้างจึงเป็นอุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นข้อเท็จจริงส่วนอุทธรณ์ข้อ 3 ที่ว่า พนักงานเงินทดแทนไม่สุจริตมีพฤติการณ์บ่งบอกอย่างชัดเจนโดยได้ยกเหตุผลประกอบมาในข้อ 3.1 ถึง3.3 นั้น เห็นว่าการกระทำของพนักงานเงินทดแทนจะสุจริตหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงเช่นกัน ส่วนอุทธรณ์ข้อ 4 ของโจทก์ที่ว่าการร้องเรียนนี้ หากเป็นเจตนาที่แท้จริงของคนงาน กฎหมายทางแพ่งเรื่องละเมิดก็มีรองรับสิทธิอยู่แล้ว หากจะใช้สิทธิเรียกร้องก็ควรจะว่ากันเรื่องละเมิด แต่คนงานทุกคนได้ยืนยันแล้วว่าไม่ติดใจเรียกร้องอะไรจากโจทก์อีกจึงควรจะยุติกันไป เห็นว่าอุทธรณ์ข้อนี้โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางแต่ประการใดเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อ 2, ข้อ 3,ข้อ 4 จึงชอบแล้ว แต่อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 1 ที่ว่า แม้ข้อเท็จจริงจากการนำสืบศาลจะฟังว่าลูกจ้างประสบอุบัติเหตุระหว่างเดินทางไปรับค่าจ้างก็จริงอยู่ คู่ความทุกฝ่ายก็ยอมรับว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลังจากงานสิ้นสุดลงแล้ว มิใช่หลังเลิกงานในแต่ละวันสภาพการเป็นนายจ้างลูกจ้างก็สิ้นไป โจทก์จึงไม่จำต้องรับผิดชอบชดใช้เงินค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับอุบัติเหตุเห็นว่าอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ โจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแต่โต้เถียงว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อนำมาปรับกับกฎหมายแล้วโจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ให้รับอุทธรณ์ข้อ 1 ของโจทก์ไว้พิจารณา ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการต่อไป

Share