คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อลูกจ้างผู้คัดค้านมิได้กล่าวไว้แจ้งชัดในอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานมิได้วินิจฉัยถึงการเตือนของนายจ้างผู้ร้องตามข้อเท็จจริงและเอกสารที่อ้าง เป็นการผิดต่อกฎหมายอย่างไร และมีผลต่อคดีอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคแรก ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ผู้ร้องมีคำสั่งโยกย้ายผู้คัดค้านไปทำงานในตำแหน่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2537 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่สหภาพแรงงานผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์จะยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2537 กรณีจึงเป็นการโยกย้ายก่อนมีการแจ้งข้อเรียกร้องไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518มาตรา 31 วรรคแรก การที่ผู้ร้องมีหนังสือเตือนผู้คัดค้านในวันที่ 14 กันยายน 2537ให้ไปทำงานในตำแหน่งใหม่ซึ่งแม้จะอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อพิพาท ก็เป็นการเตือนถึงคำสั่งที่โยกย้ายก่อนมีการแจ้งข้อเรียกร้อง จึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าการที่ผู้ร้องโยกย้ายหน้าที่การงานของผู้คัดค้านเป็นการกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน ต้องห้ามเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 มาตรา 31 วรรคแรก และการที่ผู้คัดค้านไม่ไปทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ใหม่ ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง ที่ศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้เป็นการไม่ชอบนั้น อุทธรณ์ข้อนี้เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานฟังว่า ผู้ร้องปรับผู้คัดค้านจากลูกจ้างรายวันเป็นลูกจ้างรายเดือนซึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้คัดค้าน ทั้งตำแหน่งหน้าที่ใหม่เป็นการจัดทำเอกสาร ตรวจเช็ครายชื่อและทำรายงาน ผู้คัดค้านจบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ ย่อมจะทำงานในตำแหน่งดังกล่าวได้ไม่ยากนัก การที่ผู้คัดค้านไม่ไปปฏิบัติงานตามตำแหน่งใหม่ ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของผู้ร้อง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 54 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share