คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10499/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ซื้อรถคันพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจสอบทราบตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้ไปจากบริษัท จ. ก็ควรจะไปขอคืนรถคันพิพาทจากโจทก์โดยการเตรียมเงินไปชดใช้ราคาที่ซื้อมาให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับใช้วิธีไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีในวันดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้เช่าซื้อ ในข้อหายักยอกรถคันพิพาท ทั้งที่ได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 แล้ว และปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 1 ปี 4 เดือนเศษ เพิ่งจะมาแจ้งความร้องทุกข์ภายหลังจากทราบแล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทไปจากบริษัท จ. พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โดยจงใจอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานในการที่จะปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ว่าด้วยการค้นและยึดสิ่งของใด ๆ ซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีข้อหายักยอกที่เพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ในภายหลังมายึดรถคันพิพาทไป จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเพื่อติดตามและเอารถคันพิพาทคืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1332 และแม้ว่ารถคันพิพาทจะเป็นรถคันเดียวกับรถคันที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าซื้อไปในคดีข้อหายักยอก อันน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเช่นกัน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการยึดรถคันพิพาทจากโจทก์โดยไม่ชดใช้ราคาที่ซื้อมา จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถเกรดเดอร์ ยี่ห้อแคตเตอร์พีลล่า รุ่น 140 จี หมายเลขทะเบียน 5 เอ็มดี 02240 คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 2,942,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 540,000 บาท และอีกวันละ 7,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันส่งมอบรถเกรดเดอร์ ยี่ห้อแคตเตอร์ฟีลล่า รุ่น 140 จี หมายเลขตัวรถ 5 เอ็มดี 02240 คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 2,942,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือชดใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 216,000 บาท และอีกวันละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 มกราคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือชดใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเข้ารถคันพิพาทในสภาพรถใหม่และได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุชินกิจเช่าซื้อไป ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดสุชินกิจผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกรถที่เช่าซื้อคืน ภายหลังมีหลักฐานแสดงว่ารถคันพิพาทมีการนำเข้าอีกครั้งหนึ่ง โดยบริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด ในสภาพรถใช้งานแล้วโดยผ่านพิธีการศุลกากรและเสียภาษีถูกต้องครบถ้วน บริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด จัดให้มีการประมูลขายเครื่องจักร โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้และรับรถไปจากบริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด แล้ว โจทก์นำรถคันพิพาทไปไว้ที่สำนักงานสาขาของโจทก์ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดตามรถคันพิพาทและร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุชินกิจและนายสุชิน ในข้อหายักยอก และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำร้อยตำรวจโทสง่า ไปติดตามยึดรถคันพิพาทคืนขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดจากบริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด ในราคา 2,942,500 บาท จริงหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงตรงกันว่า บริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด จัดให้มีการประมูลขายสินค้าหลายรายการ รวมทั้งมีรถคันพิพาทอยู่ในรายการทรัพย์ที่จะประมูลขายทอดตลาดด้วย โจทก์มีนายไพโรจน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า โจทก์เข้าประมูลรถคันพิพาทได้ในราคา 2,750,000 บาท และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 192,500 บาท โดยโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่บริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด และได้รับรถที่ประมูลไปแล้ว และโจทก์มีนายนพดล ผู้ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้เข้าประมูลรถคันพิพาท เป็นพยานเบิกความยืนยันอีกว่า พยานเข้าประมูลรถคันพิพาทรายการที่ 649 โดยประมูลได้ในราคา 2,750,000 บาท เมื่อชำระราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน 2,942,500 บาท โจทก์ได้รับรถคันพิพาทหลังจากที่ชำระราคาครบถ้วนแล้ว โดยผู้ขายได้มอบใบรับรองการนำเข้าให้แก่ฝ่ายบัญชีของโจทก์ด้วย กับโจทก์มีนางนิตติยา ผู้จัดการฝ่ายบริหารของบริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน บัญชีและสินเชื่อมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า รถคันพิพาทได้ขายให้แก่โจทก์ไปแล้ว ประกอบกับตามเอกสารการประกาศขายทอดตลาดในเรื่องการส่งมอบข้อ 1 มีข้อความระบุเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อผู้ทำการประมูลได้รับชำระเงินครบถ้วนแล้ว ผู้ทำการประมูลจะส่งมอบสินค้าพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ผู้ชนะการประมูล ณ สถานที่ทำการประมูล เมื่อโจทก์ผู้ชนะการประมูลได้รับมอบรถคันพิพาทไปไว้ในครอบครองพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว ย่อมสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ข้างต้น แสดงว่าได้มีการชำระเงินครบถ้วนแก่ผู้ทำการประมูลตามเงื่อนไขแล้ว อีกทั้งพยานฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้ชำระราคาค่าประมูลซื้อรถคันพิพาทแก่ผู้ทำการประมูล จึงเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ให้มีน้ำหนักมั่นคงมากกว่าพยานจำเลย ทำให้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อรถคันพิพาทมาโดยสุจริตและได้ชำระราคาครบถ้วนจริง ถึงแม้ว่าโจทก์จะมิได้นำสืบแสดงหนังสือสัญญาซื้อขายหรือใบเสร็จรับเงินดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อรถคันพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 คือโจทก์ไม่ต้องคืนรถคันพิพาทแก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการยึดรถคันพิพาทจากโจทก์โดยไม่ชดใช้ราคาที่ซื้อมาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตรวจสอบทราบตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้ไปจากบริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ควรจะไปขอคืนรถคันพิพาทจากโจทก์โดยการเตรียมเงินไปชดใช้ราคาที่ซื้อมาให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับใช้วิธีไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีในวันดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุชินกิจโดยนายสุชิน ผู้เช่าซื้อ ในข้อหายักยอกรถคันพิพาท ทั้งที่ได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 1 ปี 4 เดือนเศษ เพิ่งจะมาแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2543 ภายหลังจากทราบแล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้ไปจากบริษัทเจ.เอส.เอส.อาร์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด พฤติการณ์บ่งชี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องนำเงินไปชดใช้ราคาแก่โจทก์ที่ซื้อรถคันพิพาทมาจึงจะนำรถคันพิพาทคืนมาได้ แต่จงใจอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานในการที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการค้นและยึดสิ่งของใด ๆ ซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีข้อหายักยอกที่เพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ในภายหลังมายึดรถคันพิพาทไป ซึ่งจำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเพื่อติดตามและเอารถคันพิพาทคืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 และแม้ว่ารถคันพิพาทจะเป็นรถคันเดียวกับรถคันที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าซื้อไปในคดีข้อหายักยอก อันน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเช่นกัน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความใน มาตรา 1332 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ก็ไม่จำต้องคืนรถคันพิพาทแก่จำเลยที่ 1 เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะชดใช้ราคา ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการยึดรถคันพิพาทจากโจทก์โดยไม่ชดใช้ราคาที่ซื้อมา จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ

Share