แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำว่า “ออกจากราชการ” ใน พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการฯหมายถึงการที่ข้าราชการพ้นจากราชการ ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงการพ้นจากราชการเพราะลาออกด้วย โจทก์ลาออกจากราชการครั้งก่อนโดยมีสิทธิได้รับบำเหน็จถือได้ว่าโจทก์ออกจากราชการโดยได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามมาตรา 30(3) แห่ง พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการฯดังนั้น เมื่อโจทก์เข้ารับราชการใหม่ จึงต้องคิดเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญเฉพาะ การรับราชการครั้งใหม่เท่านั้น จะนำเวลาราชการตอนก่อนมารวมกับเวลาราชการครั้งใหม่หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ มาตรา 30.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า โจทก์มีสิทธินับเวลาราชการตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2587 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2500 ครั้งแรกมารวมกับเวลาราชการครั้งหลังตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2504 ถึงวันที่23 มีนาคม 2526 ได้ และบังคับให้จำเลยทั้งสองดำเนินการและสั่งการเรื่องราวขอรับบำนาญของโจทก์ว่า มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญรวมทั้งสิ้น 40 ปี 5 เดือนเศษ ให้จำเลยสั่งจ่ายเงินบำนาญเพิ่มให้โจทก์อีกเดือนละ 4,049 บาท 50 สตางค์ รวมเวลา 3 เดือน8 วัน เป็นเงิน 13,193 บาท 50 สตางค์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มีเวลาราชการ 2 ตอน โจทก์ไม่มี>สิทธินับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญโดยเอาเวลาราชการก่อนออกจากราชการตอนแรกมานับรวมกับเวลาราชการตอนหลัง เพราะกรณีต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 30 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญเพิ่มจากที่จำเลยได้สั่งจ่าย ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำว่า ออกจากราชการ ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญราชการ พ.ศ. 2494 หมายถึงการที่ข้าราชการพ้นจากราชการนั่นเอง ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงการพ้นจากราชการเพราะลาออกด้วยกรณีของโจทก์ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่าโจทก์ลาออกจากราชการครั้งก่อนโดยมีสิทธิได้รับบำเหน็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากราชการโดยได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามมาตรา 30(3)แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ 2494 แล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์เข้ารับราชการใหม่ จึงต้องคิดเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญเฉพาะการรับราชการครั้งใหม่เท่านั้น จะนำเวลราชการตอนก่อนมารวมกับเวลาราชการครั้งใหม่หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา30 จำเลยทั้งสองคิดเวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญเฉพาะกับราชการครั้งใหม่ให้โจทก์ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ให้นับเวลาราชการตอนก่อนรวมกับเวลาราชการครั้งใหม่เพื่อคำนวณบำนาญให้โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.