แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้มีชื่อในโฉนดแต่เพียงผู้เดียว ตามคำร้องของผู้ร้องที่อ้างว่าได้จดทะเบียนที่ดินให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทนนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรู้เห็นด้วย ทั้งคำร้องมิได้กล่าวว่าโจทก์กระทำการโดยไม่สุจริต ต้องถือว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริต เมื่อโจทก์เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริตนิติกรรมจำนองระหว่าง โจทก์จำเลย จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้ ผู้ร้องจะขอกันส่วนของตนจากเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินจากการบังคับจำนองหาได้ไม่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ไต่สวน จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
สืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขายทอดตลาด ชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกับจำเลย จึงขอกันส่วนของผู้ร้อง 5 ส่วนใน 9 ส่วน ศาลชั้นต้นงดไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัย ผู้ร้องทั้งห้ามีสิทธิขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองรายนี้หรือไม่ ผู้ร้องทั้งห้าอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำนอง 5 ส่วนใน 9 ส่วน แต่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งห้าไม่มีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดินแปลงนี้ คงมีแต่จำเลยเป็นผู้มีชื่อในโฉนดแต่เพียง ผู้เดียว ที่ผู้ร้องทั้งห้าอ้างว่าจดทะเบียนยกที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำนองให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องทั้งห้านั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องทั้งห้ากับจำเลย ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรู้เห็นด้วยทั้งมิได้กล่าวว่าโจทก์กระทำการโดยไม่สุจริต จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริต ในเมื่อโจทก์ได้เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วนิติกรรม จำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองได้เต็มตามสัญญา ผู้ร้องทั้งห้าจะขอกันส่วนของตนออกจากจำนวนเงินที่ขายทอดตลาดที่ดินจากการบังคบจำนองหาได้ไม่ คดีจึงไม่จำต้องทำการไต่สวนคำร้องทั้งห้าต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดการไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าเสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องทั้งห้าใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาทแทนโจทก์”