คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10665/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้น ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 และศาลที่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 302 คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 1 และให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จะต้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิม มิใช่เสนอคำร้องเป็นคดีใหม่

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2005/2539 (ที่ถูก 1981/2539) ของศาลจังหวัดนนทบุรี จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทเอทีแอนด์ที (ไทยแลนด์) อิ๊งค์ จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทลูเซ่นเทคโนโลยี่ส์ไทยแลนด์อิ๊งค์ เป็นเงิน 4,350,735.02 บาท โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดนนทบุรี อายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อบริษัทลูเซ่นเทคโนโลยี่ส์ไทยแลนด์อิ๊งค์ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ศาลจังหวัดนนทบุรีมีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี มีหนังสือถึงบริษัทลูเซ่นเทคโนโลยี่ส์ไทยแลนด์อิ๊งค์ ขออายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 จำนวนดังกล่าว แต่บริษัทลูเซ่นเทคโนโลยี่ส์ไทยแลนด์อิ๊งค์ โต้แย้งว่าบริษัทลูเซ่นเทคโนโลยี่ส์ไทยแลนด์อิ๊งค์ ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งว่าบริษัทลูเซ่นเทคโนโลยี่ส์ไทยแลนด์อิ๊งค์ เป็นหนี้ค่าบริการจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,350,735.02 บาท และให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี
บริษัทลูเซ่นเทคโนโลยี่ส์ไทยแลนด์อิ๊งค์ ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้หักกลบลบหนี้กันแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องอยู่จำนวน 2,813,890.21 บาท ผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมิใช่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกเลิกคำสั่งอายัดเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับดดี
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คำร้องของโจทก์มีข้ออ้างและคำขอแบบเดียวกับคำร้องฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 ที่โจทก์ยื่นต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีได้มีคำสั่งไปแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและเป็นการยื่นคำร้องนอกเขตอำนาจศาล ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1981/2539 ของศาลจังหวัดนนทบุรี โดยศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,081,087.07 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,044,953.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2541 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดนนทบุรีอายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อผู้ร้องซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ศาลจังหวัดนนทบุรีขอให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี มีหนังสือถึงผู้ร้องขออายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อผู้ร้อง 4,350,735.02 บาท ผู้ร้องทำหนังสือโต้แย้งการอายัดเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าผู้ร้องไม่มีหนี้สินค้างชำระกับจำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์อ้าง วันที่ 25 พฤษภาคม 2541 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นหนี้ค่าบริการจำเลยที่ 1 ให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งว่า หนี้ที่โจทก์ขออายัดเป็นหนี้ที่มีข้อโต้แย้งระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง รูปเรื่องจะทำให้เสร็จเด็ดขาดไม่ได้สะดวกโดยวิธีไต่สวนหากสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องมีอยู่จริงและสามารถบังคับกันได้ กรณีจำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องนั้น โจทก์ชอบที่จะดำเนินการใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 บังคับเอากับผู้ร้องต่อไปให้ยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2541 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ขอให้ไต่สวน และมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 1 จำนวน 4,350,735.02 บาท ให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เสนอคำร้องต่อศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เห็นว่า การเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 และศาลที่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 302 คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 1 และให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จะต้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิมคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1981/2539 ของศาลจังหวัดนนทบุรีมิใช่คำร้องเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงเสนอคำร้องต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ไม่ได้ และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วกรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของผู้ร้องที่ว่า การเสนอคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share