แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหา เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ ในคำให้การและมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็หยิบยก ขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(5) โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ฉะนั้นคดีนี้ซึ่งโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกันกับคดีอาญาดังกล่าวและมูลคดีเดียวกันจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่อง กับ คดีอาญาในการพิพากษาคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏ ในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 โจทก์มอบเงินให้จำเลยเพื่อนำไปมอบให้พนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งช่วยเหลือให้โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายกับ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเงินดังกล่าวจึงเป็นเงินสินบน ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยไปกระทำความผิด แม้จำเลยรับเงิน ไปแล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะ ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของบริษัทโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นบิดาจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2525 จำเลยที่ 1 ได้ขออนุมัติสั่งจ่ายเงินค่านายหน้าจำนวน 240,000บาท แก่ผู้ติดต่อให้โจทก์ได้ตกลงขายสินค้าให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ โจทก์หลงเชื่อจึงอนุมัติสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคาร วันที่ 28 ธันวาคม 2525 โจทก์ได้ตรวจพบว่าในการขายสินค้าให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไม่มีการจ่ายค่านายหน้าแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 240,000บาท ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2525 เป็นเงิน 24,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 240,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำนวน 264,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทโจทก์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป มีหน้าที่จัดการขายเครื่องจักรกลที่โจทก์สั่งมาจากต่างประเทศ โดยติดต่อขายแก่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ ในทางปฏิบัติโจทก์จะอนุมัติเงินจำนวนหนึ่งเรียกว่าเงินค่านายหน้าหรือสินบนแก่ผู้ที่สามารถวิ่งเต้นติดต่อ เพื่อให้การขายสินค้าของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อขายสินค้าให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะต้องเสียค่านายหน้าเป็นเงิน 240,000 บาท โจทก์เห็นชอบและอนุมัติให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่านายหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน240,000 บาท นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 24,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นางอาภาอมาตยกุล ภรรยาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมายเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเบื้องแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องเสียก่อน เห็นว่า ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
สำหรับในปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง ศาลฎีกาพิพากษาว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในการขายสินค้าบริษัทโจทก์ได้ตกลงยินยอมให้กำหนดจำนวนเงินที่จะให้เป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ที่ช่วยให้ขายสินค้าได้ ตามพฤติการณ์เงินค่าตอบแทนหรือเงินค่านายหน้าจำนวน 240,000บาท ก็คือเงินที่จะมอบให้ผู้ช่วยเหลือให้ได้มีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และผู้ที่จะช่วยเหลือให้ได้ทำสัญญาก็ต้องเป็นพนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั่นเอง เงินที่รับว่าจะให้นี้จึงเป็นเงินสินบน เมื่อการซื้อขายเสร็จบริบูรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือขออนุมัติจ่ายค่านายหน้าบริษัทโจทก์อนุมัติให้จ่ายเงินจำนวน 240,000 บาท ได้ อันเป็นการแสดงถึงเจตนาของบริษัทโจทก์ที่จะให้จำเลยที่ 1 นำเงินไปมอบให้แก่ผู้ช่วยเหลือให้ได้ทำสัญญาซื้อขาย การกระทำของบริษัทโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่า บริษัทโจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 บริษัทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องร้องได้ ฉะนั้นคดีนี้ซึ่งโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกันกับคดีอาญาดังกล่าว และมูลคดีเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จึงต้องฟังว่าบริษัทโจทก์เจตนาให้จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 240,000 บาท ไปมอบให้แก่ผู้ช่วยเหลือให้บริษัทโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยถือได้ว่าบริษัทโจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำผิดบริษัทโจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ด้วย
พิพากษายืน.