แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ที่ผู้กระทำซึ่งมีอายุกว่าสิบหกปี ดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีเป็นความผิดนั้น หมายถึงว่า ผู้นั้นดำรงชีวิตของตนอยู่ได้ด้วยการอาศัยปัจจัยทั้งหมดหรือแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ซึ่งหากขาดปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีจะดำรงชีพอยู่ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันเป็นธุระจัดหาหญิงผู้กระทำการค้าประเวณีให้แก่ชายที่ต้องการร่วมประเวณี โดยใช้สำนักงานเลขที่ 59/310 อาคารพิบูลย์วัฒนา เป็นที่ประกอบกิจการแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกได้รับเงินส่วนแบ่งค่าร่วมประเวณีเป็นรายได้ และผลประโยชน์ตอบแทนในการจัดหาดังกล่าว จำเลยทั้งสองซึ่งมีอายุเกินกว่า 16 ปี ไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏและไม่พอเพียงสำหรับดำรงชีพและอยู่ร่วมสมาคมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีหลายคนเป็นอาจิณ ได้ดำรงชีพอยู่โดยมีรายได้เป็นเงินส่วนหนึ่งจากรายได้ของหญิงซึ่งได้มาจากการค้าประเวณีดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 286 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีพ.ศ. 2503 มาตรา 8 และขอให้ริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 286 และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุกคนละ 10 ปี ของกลางริบ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8 จำคุก 2 เดือน จำเลยที่ 2ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุก1 เดือน 15 วัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 บัญญัติว่า”ผู้ใดอายุกว่าสิบหกปีดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ผู้ใดไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพ หรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ และ
(1) ปรากฏว่าอยู่ร่วมกับหญิงซึ่งค้าประเวณี หรือสมาคมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีคนเดียวหรือหลายคนเป็นอาจิณ
(2) กินอยู่หลับนอน หรือรับเงิน หรือประโยชน์อย่างอื่นโดยหญิงซึ่งค้าประเวณีเป็นผู้จัดให้ หรือ
(3) เข้าแทรกแซงเพื่อช่วยหญิงซึ่งค้าประเวณีในการทะเลาะวิวาทกับผู้ที่คบค้ากับหญิงซึ่งค้าประเวณีนั้น ให้ถือว่าผู้นั้นดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณี เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจได้ว่ามิได้เป็นเช่นนั้น
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับค่าเลี้ยงดูจากหญิงซึ่งค้าประเวณี ซึ่งพึงให้ค่าเลี้ยงดูนั้นตามกฎหมายหรือตามธรรมจรรยา” ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะมีความผิดตามที่โจทก์ฎีกาโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า จำเลยที่ 2 อายุกว่าสิบหกปีดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีซึ่งหมายถึงว่า จำเลยที่ 2 ดำรงชีวิตของตนอยู่ได้ด้วยการอาศัยปัจจัยทั้งหมดหรือแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีหากจำเลยที่ 2 ขาดปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี จำเลยที่ 2 จะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ หรือจำเลยที่ 2ไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ และปรากฏว่าจำเลยที่ 2 อยู่ร่วมกับหญิงค้าประเวณี หรือสมาคมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีคนเดียวหรือหลายคนเป็นอาจิณตามคำฟ้องโจทก์ ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายสันนิษฐานหรือให้ถือว่าผู้นั้นดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณีแต่จากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพียงว่า จำเลยที่ 2 อายุกว่าสิบหกปีกับพวก เป็นผู้จัดหาหญิงผู้ทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระและจำเลยที่ 2 ได้รับเงินส่วนแบ่งจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงชีวิตของตนอยู่ได้ด้วยอาศัยปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ซึ่งหากจำเลยที่ 2ขาดปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีแล้วจำเลยที่ 2 จะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานนำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีปัจจัยอย่างอื่นปรากฏสำหรับดำรงชีพหรือไม่มีปัจจัยอันเพียงพอสำหรับดำรงชีพ โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้ง จึงจะให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณีไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฎีกา คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ทำงานเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุสสะอินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง ได้รับเงินเดือนเดือนละ 3,200บาท นั้นเป็นความจริงหรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาชอบแล้ว”
พิพากษายืน