แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ช. เมื่อ ช. ขายที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บิดาโจทก์ทั้งห้าก่อนจำเลยทั้งสองครอบครองครบกำหนดสิบปี จำเลยทั้งสองไม่อาจยกการครอบครองดังกล่าวขึ้นยันบิดาโจทก์ทั้งห้าได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองจึงขาดตอนตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนแล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองที่ดินพิพาทใหม่ จะนำระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของ ช. มานับรวมด้วยไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากบิดาโจทก์ทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์มายังไม่ครบสิบปี จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จะเป็นผู้มอบอำนาจหลายคน แต่ต่างเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและบ้านพิพาท จึงเป็นผู้มีอำนาจร่วมกันมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยเสียอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7 (ข) ซึ่งกำหนดไว้ 30 บาท ปรากฏว่าใบมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ติดอากรแสตมป์ 30 บาท โจทก์ที่ 5 จึงมีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน และบ้านพิพาทของโจทก์ทั้งห้า และส่งมอบที่ดินและบ้านหลังดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งห้า กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งห้า ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบบ้านและที่ดินดังกล่าวและร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบบ้านและที่ดินแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายชาลี เมื่อปี 2537 นายชาลีได้ขายที่ดินดังกล่าวและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายสุนันท์บิดาโจทก์ทั้งห้าตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2541 นายสุนันท์จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามสำเนาโฉนดที่ดิน จำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทมาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบัน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อแรกมีว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากบิดาโจทก์ทั้งห้าโดยการให้โดยเสน่หา ไม่เสียค่าตอบแทนจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยทั้งสองสามารถนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งห้ารับโอนกรรมสิทธิ์จากนายชาลีรวมกับระยะเวลาที่โจทก์ทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากบิดาโจทก์ทั้งห้าต่อเนื่องกันมาจนถึงวันฟ้อง เมื่อเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ ตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสองจะเห็นได้ว่าการครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทในขณะที่ที่ดินดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนายชาลี จำเลยทั้งสองจะต้องครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีจึงจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่านายชาลีได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ทั้งห้าและมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บิดาโจทก์ทั้งห้าก่อนครบกำหนดสิบปี จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกการครอบครองขึ้นยันบิดาโจทก์ทั้งห้าได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองได้ขาดตอนตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนแล้ว หากจำเลยทั้งสองจะครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจากบิดาโจทก์ทั้งห้าจำเลยทั้งสองจะต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินดังกล่าวใหม่ จะนำระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของนายชาลีมานับรวมด้วยไม่ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองยังครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อบิดาโจทก์ทั้งห้าและโจทก์ทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์มายังไม่ครบสิบปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไว้โดยชอบแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีปิดอากรแสตมป์เพียง 30 บาท เป็นการปิดอากรแสตมป์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ แต่เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยเสียก่อน เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จะเป็นผู้มอบอำนาจหลายคน แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและบ้านพิพาท จึงเป็นผู้มีอำนาจร่วมกันและมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ข) ซึ่งกำหนดไว้ 30 บาท ปรากฏว่าใบมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ติดอากรแสตมป์ 30 บาท จึงถูกต้องแล้ว โจทก์ที่ 5 มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เอกสารหมาย จ. 10 เป็นเอกสารที่โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและส่งให้แก่จำเลยทั้งสองก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 จึงไม่อาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ. 10 เป็นสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน