แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) หรือไม่นั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะไม่ใช้อำนาจนั้นก็ได้ ประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ซึ่งศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเองได้ ไม่ต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระสินบนนำจับร้อยละ 30 ของราคาสินค้า ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องเฉพาะแต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2ตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบจนเป็นผลให้จำเลยที่ 2 จับกุมสินค้าหรือผู้กระทำผิดได้ จำเลยที่ 2 จะจ่ายสินบนนำจับให้โจทก์ ส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า หลังจากมีการจับกุมสินค้าหลบหนีภาษีรายนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ออกไปตรวจและนำสินค้าที่จับได้มอบให้กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ความตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 แต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องสินบนนำจับจากจำเลยที่ 1 ที่ 3 เพราะเหตุใด คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงไม่ได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ก็ไม่ได้มีเจตนาจะให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์จะฎีกาในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ส่วนที่โจทก์จะขอถือเอาอุทธรณ์ข้อ 3 (ข) เป็นส่วนหนึ่งแห่งฎีกาด้วยนั้นโจทก์หาได้บรรยายข้อความดังกล่าวไว้ในฎีกาไม่ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่ากรมตำรวจจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำผิดกรมศุลกากรจำเลยที่ ๓ มีหน้าที่เก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรพันตำรวจเอกประเสริฐ จำเลยที่ ๒ ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ ให้ปราบปรามผู้กระทำผิด จำเลยที่ ๒ ตกลงกับโจทก์ว่า ถ้าโจทก์แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการนำสินค้าหนีภาษีเข้ามาในราชอาณาจักรจนเป็นผลให้จำเลยที่ ๒ จับกุมผู้กระทำผิดได้ จำเลยที่ ๒ จะจ่ายสินบนนำจับให้ร้อยละ ๓๐ ของราคาสินค้าที่จับได้ โจทก์ได้แจ้งจำเลยที่ ๒ ว่าจะมีผู้นำสินค้าหนีภาษีเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ ๒ จึงให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นพบบุหรี่ต่างประเทศซึ่งหลบหนีภาษีจำนวนมาก จำเลยที่ ๑ ได้มอบสินค้าทั้งหมดให้จำเลยที่ ๓ ต่อมาจำเลยที่ ๓ นำสินค้าดังกล่าวไปจำหน่ายได้เงิน ๑,๔๓๑,๕๘๗ บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินบนนำจับเป็นเงินร้อยละ ๓๐ เป็นเงิน ๔๒๙,๔๗๖.๑๐ บาท โจทก์ทวงถามจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๒ ขอผัดเรื่อยมา ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การว่า การจ่ายเงินสินบนนำจับเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่เคยตกลงกับโจทก์ตามฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าโจทก์และจำเลยมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างไร เหตุใดโจทก์จึงมีสิทธิขอรับเงินสินบนจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ เคลือบคลุมจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น หรือนัยหนึ่งคือ ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๑) นั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะไม่ใช้อำนาจนั้นก็ได้ ประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยมานั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานเพิ่มเติมอีก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้อยู่แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปเสียเอง ไม่พิพากษาศาลชั้นต้น ส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ เป็นการเหมาะสมแล้ว ในส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ไม่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับสินบนนำจับโจทก์คงบรรยายฟ้องไว้เฉพาะแต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เท่านั้น โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ได้ตกลงกับโจทก์ไว้ว่า หากโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบจนเป็นผลให้จำเลยที่ ๒ จับกุมสินค้าหรือผู้กระทำผิดได้ จำเลยที่ ๒ จะจ่ายสินบนนำจับให้ร้อยละ ๓๐ ของราคาสินค้าที่จับได้ทั้งหมด ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียง หลังจากมีการจับกุมสินค้าหลบหนีภาษีรายนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ ๑ ได้ออกไปตรวจและนำสินค้าที่จับได้มอบให้กับจำเลยที่ ๓ ตามฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ คงเกี่ยวข้องกับการจับกุมสินค้าดังกล่าวเพียงเท่านี้ โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิจะได้รับสินบนนำจับร้อยละ ๓๐ ของราคาสินค้า และอ้างสิทธิของโจทก์ว่าเกิดจากความตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ แต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องสินบนนำจับจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ เพราะเหตุใด คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ จึงเคลือบคลุม
ในส่วนคำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นั้น โจทก์คงฎีกาต่อมาเพียงว่า โจทก์เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ เพราะโจทก์ก็ไม่ได้มีเจตนาจะให้จำเลยที่ ๒ รับผิดเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว แต่เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ ๑ เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ ๓ เมื่อจำเลยที่ ๓ ได้รับเงินจากการที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๒ จับสินค้า จำเลยที่ ๓ ก็ชอบที่จะจ่ายเงินให้โจทก์เป็นรางวัลหรือเป็นการตอบแทนบ้าง ตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าว แปลความได้ว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ เพราะจำเลยที่ ๒ ไม่ได้สัญญากับโจทก์ว่าจะจ่ายสินบนนำจับแก่โจทก์ และจำเลยที่ ๒ ก็ไม่เคยได้รับสินบนนำจับจากจำเลยที่ ๓ นั้น โจทก์ไม่ติดใจฎีกาคัดค้าน ดังนั้น จึงเท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์จะฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ที่มีต่อโจทก์ สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ ๓ ตามฎีกาของโจทก์นอกจากนี้เมื่อฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ เคลือบคลุมเสียแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ข้ออื่นอีกต่อไป
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ ๓ (ข) ให้นั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ที่มีต่อโจทก์ตรงตามอุทธรณ์ของโจทก์ ส่วนที่โจทก์จะขอถือเอาอุทธรณ์ ข้อ ๓ (ข) เป็นส่วนหนึ่งแห่งฎีกาด้วยนั้น โจทก์หาได้บรรยายข้อความดังกล่าวไว้ในฎีกาไม่ ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน