คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5,30,32 บัญญัติความผิดและบทลงโทษฐานทำสุรากับฐานมีสุราไว้ในครอบครองไว้คนละมาตรา จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ข้อหาทำสุราและข้อหามีสุราไว้ในครอบครองในคราวเดียวกันแม้จำเลยจะทำทั้งสุรากลั่นและสุราแช่และมีทั้งสุรากลั่นและสุราแช่ ในแต่ละข้อหาก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงต้องฟังว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งศาลมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 การที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่ารถยนต์ของกลางไม่อาจเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามลักษณะของความผิดที่โจทก์ฟ้องได้นั้น เป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากคำรับสารภาพของจำเลยเป็นการไม่ชอบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีภาชนะและเครื่องกลั่นสุรา ทำสุราแช่มีสุราแช่ไว้ในครอบครอง ทำสุรากลั่น มีสุรากลั่นไว้ในครอบครองนำสุราแช่และสุรากลั่นที่ทำขึ้นออกขาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 5, 17, 30, 31, 32, 45 ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 33 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์รับตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 คืนเพื่อดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 33 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีภาชนะและเครื่องกลั่นสุรา จำคุก 15 วัน ฐานทำสุราแช่ปรับ 100 บาท ฐานมีสุราแช่ไว้ในความครอบครอง ปรับ 500 บาท ฐานทำสุรากลั่น จำคุก 15 วัน ฐานมีสุรากลั่นไว้ในความครอบครองปรับ 500 บาทฐานร่วมกันนำสุราแช่และสุรากลั่นที่ทำขึ้นออกขาย จำคุก 15 วัน เรียงกระทงลงโทษรวมจำคุก 45 วัน และปรับ 1,100บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานทำสุราแช่และมีสุราแช่ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษฐานมีสุราแช่ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นบทหนักปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,000 บาท ความผิดฐานทำสุรากลั่นและมีสุรากลั่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ลงโทษฐานทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือนเฉพาะโทษที่พิพากษาแก้รวมเป็นจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 วัน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 รถยนต์ของกลางไม่ริบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทำสุราแช่กับทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นความผิดกรรมเดียวกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราแช่สุรากลั่นที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 มาตรา 5, 30, 32 บัญญัติความผิดและบทลงโทษฐานทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต กับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ไว้คนละมาตรากัน ดังนั้นการที่จำเลยทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุรานั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดต่างกรรมกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาทำสุรากลั่นทำสุราแช่เป็นสองกรรม และข้อหามีสุรากลั่นมีสุราแช่ไว้ในครอบครองเป็นสองกรรมเช่นกันนั้นข้อหาทำสุราในคราวเดียวกันแม้จำเลยที่ 1จะทำทั้งสุรากลั่นและสุราแช่ก็เป็นความผิดกรรมเดียว ข้อหามีสุราไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน แม้จำเลยที่ 1 จะมีทั้งสุรากลั่นและสุราแช่ก็เป็นความผิดกรรมเดียวเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นแก้เสียให้ถูกต้องได้
ส่วนรถยนต์ของกลางนั้น โจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด เมื่อจำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงต้องฟังว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งศาลมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 การที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่ารถยนต์ของกลางไม่อาจเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามลักษณะของความผิดที่โจทก์ฟ้องได้นั้น เป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 32 ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 ลงโทษฐานทำสุรากลั่นสุราแช่จำคุก 1 เดือน ฐานมีสุรากลั่นสุราแช่ไว้ในครอบครองปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 คงจำคุก 15 วัน ปรับ 500 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานมีภาชนะและเครื่องกลั่นสุราและฐานขายสุราที่ทำขึ้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 45 วัน และปรับ 500 บาท ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 และริบรถยนต์ของกลางด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share