คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22201/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองต่างแสดงเจตนาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของ ณ. อันถือเป็นการค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง แต่ไม่เกินจำนวนที่จำเลยทั้งสองค้ำประกันไว้ การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาท แล้วปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว มิได้ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ด้วย การปลดหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมเพียงเท่าส่วนที่โจทก์ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 แต่หาทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ เพราะหนี้รายนี้ยังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ส่วนที่เหลืออีก 40,000 บาท ซึ่งไม่เกินส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ยังเหลืออยู่
หนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าวจากโจทก์ ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้นสูงเกินไป สมควรกำหนดให้เท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องคดีมโนสาเร่และแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินคนละ 117,999 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันนางณัฐอนงค์ไว้กับโจทก์ โดยตกลงว่าหากนางณัฐอนงค์กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าวเรียกร้องจากโจทก์ หากไม่ชำระ ยอมให้คิดค่าปรับเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินที่ค้างชำระและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนางณัฐอนงค์ ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันนางณัฐอนงค์ไว้กับโจทก์ โดยมีข้อตกลงและจำนวนเงินที่ต้องรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน นางณัฐอนงค์ปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโจทก์เกี่ยวกับการประกันชีวิตและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 153,676 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือทวงถามตามคู่ฉบับหนังสือทวงถามและใบตอบรับ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ระหว่างพิจารณาคดีนี้ โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้โจทก์ 60,000 บาท แล้ว โจทก์ถือว่าจำเลยที่ 2 ชำระหนี้เสร็จสิ้นในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 อีก และขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 แต่ขอดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อไป ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองค้ำประกันหนี้ของนางณัฐอนงค์โดยจำกัดความรับผิดในวงเงินคนละ 100,000 บาท เป็นกรณีที่ต่างคนต่างรับผิดแยกต่างหากจากกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน เห็นว่า การที่ผู้ค้ำประกันต่างระบุจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของตนไว้ มิใช่ข้อที่แสดงว่าผู้ค้ำประกันตกลงแยกความรับผิดของแต่ละคนออกจากกัน เมื่อจำเลยทั้งสองแสดงเจตนาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของนางณัฐอนงค์ อันถือเป็นการค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง แต่ไม่เกินจำนวนที่จำเลยทั้งสองค้ำประกันไว้ การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาท แล้วปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว มิได้ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ด้วย การปลดหนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมเพียงเท่าส่วนที่โจทก์ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 293 แต่หาทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ เพราะหนี้รายนี้ยังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ส่วนที่เหลืออีก 40,000 บาท ซึ่งไม่เกินส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ยังเหลืออยู่หลังจากหักส่วนที่ได้รับประโยชน์จากการปลดหนี้เป็นเงิน 40,000 บาท ออกแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 117,999 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งเท่ากับโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่บรรยายไว้ในคำฟ้องนั้น เห็นว่า หนังสือสัญญาค้ำประกัน ข้อ 1 ระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าวจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดค่าปรับเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้นสูงเกินไป สมควรกำหนดให้เท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2548 ตามที่โจทก์ขอไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท

Share