คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6599/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21,22 และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522หมวด 4 ข้อ 30 และขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2479 และการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารนั้นทำให้อาคารของจำเลยมีสภาพหรือการใช้อาจเป็นภยันตรายต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพหรือทรัพย์ หรือไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่อาจออกใบอนุญาตให้จำเลยก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารได้ โจทก์เคยมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525, พ.ศ. 2528และ พ.ศ. 2529 แต่จำเลยไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น จึงได้ฟ้องต่อศาลคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่ร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42(เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว จำเลยกระทำการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522หมวด 4 ข้อ 30 ทั้งขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 เช่นอาคารพิพาทไม่มีที่จอดรถยนต์ ที่ถูกต้องและเพียงพอ ทำให้โจทก์ออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ อาคารที่จำเลยต่อเติมดัดแปลง จึงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงดังกล่าวได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทและร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนอาคารพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคแรก และวรรคสาม (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารของจำเลยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงหาใช่เป็นการวินิจฉัยและพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ปลูกสร้างดัดแปลงต่อเติมนอกเหนือไปจากแบบแปลนที่ได้อนุญาตโดยส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมนี้ โจทก์ไม่อาจออกใบอนุญาตให้จำเลยก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารได้ ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ปลูกสร้างดัดแปลงต่อเติมตามฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมกล่าวคือโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าใช้สิทธิตามกฎหมายใด และมาตราใดมาฟ้องร้องบังคับให้จำเลยรื้อถอน จำเลยยื่นขออนุญาตก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารตามฟ้องถูกต้องตามขั้นตอน ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 และตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุญาตของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมตามฟ้อง คืออาคารชั้นที่ 9 ขนาดอาคาร13 x 40.60 เมตร และ 13 x 19 เมตร สูง 2.50 เมตร อาคารขนาด7.60 x 13 เมตร สูง 23.50 เมตร (9 ชั้น ดาดฟ้า) ที่ติดต่อกับอาคาร 8 ชั้นเดิม ผนังอิฐชั้นล่างของอาคาร 8 ชั้น ซึ่งเดิมเป็นที่ว่างสำหรับจอดรถยนต์ที่จำเลยกั้นจัดเป็นห้อง ๆ และอาคารขนาด1.50 x 5 เมตร สูง 2.50 เมตร หลังคาคอนกรีตติดกับอาคาร 8 ชั้นเดิมตามบริเวณที่ขีดเส้นสีแดงในเอกสารหมาย จ.8 หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารที่อยู่อาศัย 8 ชั้น ดาดฟ้าจำนวน1 หลัง ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของนายรัฐธรรมนูญ จำนงภูมิเวทโดยโจทก์อนุญาตให้จำเลยปลูกสร้างอาคารดังกล่าวได้ แต่จำเลยต่อเติมอาคารเป็นชั้นที่ 9 ขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 40.60 เมตร และ13 x 19 เมตร สูงประมาณ 2.50 เมตร เต็มดาดฟ้ารูปตัวแอล จำเลยก่อสร้างอาคารขนาด 7.60 เมตร x 13 เมตร สูงประมาณ 23.50 เมตรก่อสร้างอาคารขนาด 1.50 เมตร x 5 เมตร สูง 2.50 เมตร และก่ออิฐฉาบปูนผนังชั้นล่างของอาคารซึ่งเดิมใช้เป็นที่จอดรถยนต์ ทำให้อาคารของจำเลยไม่มีที่จอดรถยนต์ จำเลยกระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์โจทก์มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยได้รับหนังสือของโจทก์แล้วแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์หาได้บรรยายฟ้องระบุว่าการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงและข้อบัญญัติท้องถิ่นได้อันจะเป็นเหตุให้โจทก์สั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนได้ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารของจำเลยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงจึงเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถึงแม้ว่าการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารของจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์และขัดต่อกฎกระทรวงก็ตาม แต่ก็หาใช่ว่าการกระทำของจำเลยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 หมวด 4 ข้อ 30 และขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2479 และการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารนั้นทำให้อาคารของจำเลยมีสภาพหรือการใช้อาจเป็นภยันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพหรือทรัพย์หรือไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่อาจออกใบอนุญาตให้จำเลยก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารได้ โจทก์เคยมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525, พ.ศ. 2528 และ พ.ศ. 2529 แต่จำเลยไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น จึงได้ฟ้องต่อศาล เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่ร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 ข้อ 30 ทั้งขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 เช่น อาคารพิพาทไม่มีที่จอดรถยนต์ที่ถูกต้องและเพียงพอ ทำให้โจทก์ออกใบอนุญาตให้ไม่ได้อาคารที่จำเลยต่อเติมดัดแปลงจึงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงดังกล่าวได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทและร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนอาคารพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคแรก และวรรคสาม (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังที่จำเลยฎีกาหาใช่เป็นการวินิจฉัยและพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ทั้งเป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share