คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16249/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 อ้างเหตุที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบและกระทำความผิดร้ายแรงอันเป็นเหตุตามมาตรา 78 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เมื่อศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยส่วนนี้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ตรวจสอบได้ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน จำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในคดีนี้ ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ต่อสู้คดีก็ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1
ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และตามคำขอท้ายฟ้องขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไว้ด้วย แต่ศาลแรงงานภาค 8 ไม่ได้มีคำสั่งในส่วนนี้อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 (1) แก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งจากการเลิกจ้างโดยกระทำความผิดร้ายแรงเป็นการเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดก็เพื่อไปขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุบังคับให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งเลิกจ้างเพื่อการดังกล่าวตามคำขอให้โจทก์อีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 37/2553 ของคณะกรรมการอุทธรณ์และมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานและให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งจากการเลิกจ้างโดยกระทำความผิดร้ายแรงเป็นการเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัด ศาลพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้มีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 37/2553 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ และให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งจากการเลิกจ้างโดยกระทำความผิดร้ายแรงเป็นการเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์ไปยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 โดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากสิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 78 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และคณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้ยกอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยที่ 37/2553 และโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 เรื่องเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คู่ความตกลงกันได้โดยที่จำเลยที่ 2 ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ 130,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้อง จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด แต่มีสาเหตุมาจากกรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่พอใจที่โจทก์ไปรับที่สนามบินนานาชาติภูเก็ตไม่ตรงเวลา ไม่ได้มีเจตนาจะเลิกจ้าง แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องทำให้จำเลยที่ 2 ไม่พอใจจึงทำหนังสือไล่ออก แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงการทำงานบกพร่อง ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน จำเลยที่ 1 มีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากจำเลยที่ 2 จึงเห็นควรให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 37/2553 ของคณะกรรมการอุทธรณ์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 37/2553 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างที่ศาลแรงงานภาค 8 โจทก์ถอนฟ้องเนื่องจากตกลงกันได้ คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์มีความผิดถึงไล่ออกยังคงมีอยู่ การที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตและคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากสิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 78 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การโดยตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและจากตัวโจทก์เอง ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาของศาลทำให้เกิดผลเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 อ้างเหตุที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบและกระทำความผิดร้ายแรงอันเป็นเหตุตามมาตรา 78 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เมื่อศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยส่วนนี้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ตรวจสอบได้ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน จำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในคดีนี้ ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ต่อสู้คดีก็ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และตามคำขอท้ายฟ้องได้ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไว้ด้วย แต่ศาลแรงงานภาค 8 ไม่ได้มีคำสั่งในส่วนนี้อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 (1) แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และ 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งจากการเลิกจ้างโดยกระทำความผิดร้ายแรงเป็นการเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดก็เพื่อไปขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุบังคับให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งเลิกจ้างเพื่อการดังกล่าวตามคำขอให้โจทก์อีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 (1) แก่โจทก์ตามสิทธิและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอในส่วนที่ขอให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งเลิกจ้างใหม่นั้นเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8

Share