คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก อ. และ อ. ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ถึงแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และ อ. จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อันมีผลให้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ อ. ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การโอนทรัพย์ให้แก่กันย่อมกระทำได้ โดยการส่งมอบการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 เมื่อ อ. ขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดย อ. ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป อันถือเป็นการแสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ อ. จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 1 จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 1 ก็หาได้สิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เนื่องจากเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก อ. จึงไม่มีสิทธิดีกว่า อ. ผู้โอนเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ให้ออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้
อ. ไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองกับ บ. เพราะไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่มีผลตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงว่า บ. รับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับ บ. รวมไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนการจำนองจาก บ. ด้วยได้
การที่ อ. โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่ บ. หลังจากนั้น บ. ได้โอนการจำนองที่ดินพิพาทไปยังจำเลยที่ 2 ย่อมถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทอยู่ในตัว โดยจำเลยทั้งสองหาจำต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททราบเรื่องดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทอันเป็นการกระทบสิทธิของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 1 และการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับ บ. ไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทเสียได้ ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในส่วนออกทับที่ดินพิพาท จึงพอถือได้ว่าเป็นการขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนั่นเอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปไม่ได้ มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
แม้จำเลยที่ 1 จะเคยให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นขอสละประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2556 จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมอีกต่อไป จำเลยที่ 1 จึงย่อมหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกาในเรื่องดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2878 ตำบลน้ำแวน (อ่างทอง) อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ในส่วนที่ออกทับที่ดินพิพาทของโจทก์ และให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การ แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง ฟ้องแย้งและแก้ไขฟ้องแย้งขอให้โจทก์กับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และห้ามเกี่ยวข้อง กับให้ชดใช้ค่าเสียหายวันละ 1,600 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มกราคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์กับบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2878 ตำบลน้ำแวน (อ่างทอง) อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ของจำเลยที่ 1 กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มกราคม 2556) จนกว่าโจทก์กับบริวารจะออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ตามแผนที่พิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2878 ตำบลน้ำแวน (อ่างทอง) อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมจำนองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2878 ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ตามแผนที่พิพาท เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2878 ตำบลน้ำแวน (อ่างทอง) อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา ซึ่งเดิมมีชื่อนายอเนก เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 นายอเนกจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นวันที่ 30 สิงหาคม 2547 จำเลยที่ 1 นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองแก่บรรษัทอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และวันที่ 19 มกราคม 2549 บรรษัทอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้โอนสิทธิจำนองที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ 1 เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายอเนกเมื่อปี 2549 และได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยสงบ โดยสุจริต และเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่มีผู้ใดเข้ามาโต้แย้งสิทธิเป็นเวลา 33 ปี แล้ว จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และนายอเนกไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และนายอเนก จึงตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองแทนนายอเนก โจทก์จึงไม่ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธว่า โจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายอเนก และไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การรับข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงต้องฟังว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายอเนก และนายอเนกส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2529 แล้ว ถึงแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และนายอเนกจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อันมีผลให้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับนายอเนกตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การโอนทรัพย์ให้แก่กันย่อมกระทำได้ โดยการส่งมอบการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 เมื่อนายอเนกขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยนายอเนกไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป อันถือเป็นการแสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ นายอเนกจึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายอเนกและจำเลยที่ 1 จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 1 ก็หาได้สิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เนื่องจากเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายอเนกจึงไม่มีสิทธิดีกว่านายอเนกผู้โอน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ให้ออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า โจทก์มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายอเนกไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพราะไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 การจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่มีผลตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงว่าบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรวมไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนการจำนองจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยด้วยได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่นายอเนกโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้โอนการจำนองที่ดินพิพาทไปยังจำเลยที่ 2 ย่อมถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทอยู่ในตัว โดยจำเลยทั้งสองหาจำต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททราบเรื่องดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทอันเป็นการกระทบสิทธิของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2878 ตำบลน้ำแวน (อ่างทอง) อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ในส่วนที่ออกทับที่ดินพิพาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กลับพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมจำนองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2878 ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2878 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายอเนกกับจำเลยที่ 1 และการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทเสียได้ ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2878 ในส่วนออกทับที่ดินพิพาท จึงพอถือได้ว่าเป็นการขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนั่นเอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงย่อมมีอำนาจวินิจฉัยไปได้ มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเคยให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นขอสละประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2556 จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมอีกต่อไป จำเลยที่ 1 จึงย่อมหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกาในเรื่องดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ 640,000 บาท เกินมา 91.30 บาท จึงเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนเกินให้จำเลยที่ 2
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมา 91.30 บาท ให้จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาทั้งในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งให้เป็นพับ

Share