คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ารถคันที่ใช้บรรทุกกัญชา และร่วมโดยสารมาในรถตั้งแต่ขับออกจากกรุงเทพมหานคร การขนกัญชาเป็นการกระทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะขนกันเป็นจำนวนมากด้วยย่อมมีโทษสูง ตามธรรมดาผู้กระทำผิดย่อมจะต้องปกปิดเป็นความลับ ถ้า จำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดแล้วก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่ผู้กระทำความผิดจะกล้าให้จำเลยโดยสารมาในรถด้วย พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาต.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 4, 7, 8, 26, 76, 102
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26, 76ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 9 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2531 เวลา 11 นาฬิกาเศษ จ่าสิบตำรวจสมบูรณ์สุขโพธิ์เพชร และสิบตำรวจเอกรักไท ไชยสาสน์ เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจทางหลวง 3 กองกำกับการ 4 จังหวัดอุดรธานีซึ่งตั้งจุดสกัดจับที่หลักกิโลเมตรที่ 64-65 ตำบลบงใต้อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พบรถยนต์เก๋งซึ่งมีลักษณะตรงกับที่สายลับแจ้ง ขับมุ่งหน้าจะเข้าจังหวัดอุดรธานี จึงเรียกให้หยุดปรากฏว่านายสำรวย สะมะแอ ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 1530/2531 ของศาลชั้นต้นเป็นคนขับ และจำเลยทั้งสองอยู่ในรถ จากการตรวจค้นพบกัญชาอันแห้งซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 รวม 19 ห่อ น้ำหนัก 95 กิโลกรัม บรรจุในถุงพลาสติกอยู่ในกระโปรงท้ายรถยึดเป็นของกลาง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ฟังได้เป็นยุติว่าร่วมกระทำความผิดตามฟ้องกับนายสำรวยปัญหาที่จะวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดตามฟ้องด้วยหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจสมบูรณ์ สุขโพธิ์เพชร และสิบตำรวจเอกรักไท ไชยสาส์น เป็นพยานเบิกความว่าก่อนจะจับกุมได้เรียกให้นายสำรวยหยุดรถ แต่นายสำรวยไม่ยอมหยุดต้องส่งวิทยุแจ้งไปให้เจ้าพักงานตำรวจที่จุดสกัดอีกจุดหนึ่งช่วยจับกุม จำเลยทั้งสองอยู่ในรถนั้นเอง และเมื่อนำจำเลยทั้งสองกับนายสำรวยส่งมอบให้พันตำรวจโทสนุ่น นิลศรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพยานและเป็นผู้อำนวยการจับกุมครั้งนี้ พันตำรวจโทสนุ่นแจ้งข้อหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ปจ.1 ของศาลจังหวัดอุดรธานี โดยโจทก์มีพันตำรวจโทสนุ่นเป็นพยานเบิกความสนับสนุน ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าในขณะจับกุมจำเลยที่ 1 จะกำลังนอนหรือเมาสุราอยู่หรือจะมีกลิ่นกัญชาเข้ามาในรถเพื่อให้จำเลยทั้งสองรู้ด้วยหรือไม่มิใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 และนายสำรวยแต่อย่างใด ในเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ารถคันดังกล่าวมา และจำเลยทั้งสองโดยสารมาในรถตั้งแต่ขับออกจากกรุงเทพมหานครหากจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนร่วมในการขนกัญชาของกลางแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่นายสำรวยจะให้จำเลยที่ 1 เป็นคนไปเช่ารถคันนี้มาในเมื่อนายสำรวยเองก็สามารถเช่าได้อยู่แล้ว ที่จำเลยที่ 1นำสืบว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 เป็นคนเช่ารถให้นายสำรวยเพราะจำเลยที่ 1รู้จักกับบริษัทผู้ให้เช่ารถนั้นก็เป็นคำเบิกความจำเลยที่ 1 เพียงลอย ๆ ไม่ได้นำผู้ให้เช่ารถมาเป็นพยานสนับสนุน ประกอบกับการขนกัญชาเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะขนกันเป็นจำนวนมากด้วยย่อมมีโทษสูง ตามธรรมดาผู้กระทำผิดย่อมจะต้องปกปิดเป็นความลับถ้าจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดของจำเลยที่ 2และนายสำรวยแล้วก้ไม่มีเหตุผลอันใดที่นายสำรวยจะกล้าให้จำเลยทั้งสองโดยสารมาในรถด้วย เพราะจำเลยทั้งสองอาจจะรู้ถึงการกระทำของนายสำรวยเมื่อใดก็ได้ ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าระหว่างทางจำเลยที่ 1 ดื่มสุราและเมามาตลอดและจำเลยที่ 1 มีความประสงค์จะมาเยี่ยมน้องชายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีด้วยนั้น ไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้ไปเที่ยวที่ใดบ้าง สำหรับนายจรินทร์ อภิญญากุล พยานจำเลยที่อ้างว่าในวันจับกุมจำเลยทั้งสองนั้นพยานแวะรับประทานอาหารที่อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร เห็นจำเลยทั้งสองกำลังนั่งดื่มสุราเมาอยู่ในร้านขายอาหารและไ้ดมีการพูดคุยกับพยานด้วย เห็นว่าพยานปากนี้ไม่ปรากฎว่าเคยรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อนและพบจำเลยทั้งสองโดยบังเอิญ ประกอบกับที่มาเป็นพยานให้จำเลยทั้งสองก็เพราะมีเจ้าพนักงานตำรวจที่จังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยที่ 1ให้ช่วยมาเป็นพยาน แต่น้องชายของจำเลยที่ 1 นั้นจะทราบได้อย่างไรว่าพยานพบกับจำเลยทั้งสองในร้านอาหารดังกล่าว ในวันที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุมก็ไม่ปรากฏ คำเบิกความของพยานปากนี้จึงขัดต่อเหตุผลรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ จำเลยที่ 1 นำสืบว่าลงชื่อในบันทึกการจับกุมไปโดยไม่ทราบข้อความก็ขัดต่เหตุผลอีกเช่นกัน เพราะพันตำรวจโทสนุ่นกับพวกที่จับกุมจำเลยที่ 1 และผู้ทำบันทึกการจับกุมต่างไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 1 โดยปราศจากมูลความจริง แม้จำเลยที่ 1 จะบอกจ่าสิบตำรวจสมบูรณ์พยานโจทก์ในขณะจับกุมว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่านายสำรวยนำกัญชาของกลางมา ก็ไม่ได้หมายความว่าในชั้นทำบันทึกการจับกุมซึ่งกระทำภายหลังนั้นจำเลยที่ 1 จะกลับใจยอมรับสารภาพไม่ได้ ฉะนั้นที่จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนจึงไม่ทำให้คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นพิรุธหรือน่าแวงสงสัยดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไปด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดตามฟ้อง”
พิพากษายืน.

Share