คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7558/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางระหว่างจำเลยกับผู้ร้องตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อขายเมื่อผู้ร้องชำระราคาส่วนที่เหลือแล้ว เป็นสัญญามีเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 การที่จำเลยส่งมอบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์และลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและรับโอน พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไว้ให้ผู้ร้อง เป็นเพียงเพื่อความสะดวกแก่ผู้ร้องในการไปจดทะเบียนรับโอนเมื่อได้มีการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้วเท่านั้น มิได้ทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อผู้ร้องยังคงค้างชำระราคารถยนต์อยู่ 50,000 บาท กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังไม่ได้โอนไปเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78, 149 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 60 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน นข 221 สงขลา ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางซึ่งจำเลยเอาไปใช้โดยพลการ และผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ของกลางทั้งรู้เห็นใจในการกระทำความผิด และใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการขอคืนรถยนต์ของกลาง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 จำเลยได้ขายรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องในราคา 200,000 บาท ผู้ร้องชำระเงินในวันดังกล่าวจำนวน 150,000 บาท จำเลยส่งมอบรถยนต์และคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องแล้ว ส่วนราคายนต์ที่เหลืออีก 50,000 บาท ผู้ร้องตกลงจะชำระให้แก่จำเลยภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ตามสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย ร.1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 จำเลยได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวในการกระทำผิด และถูกศาลพิพากษาให้ริบรถยนต์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง เอกสารหมาย ร.1 ระบุชัดว่าผู้ร้องยังคงค้างชำระราคารถยนต์ของกลางอีก 50,000 บาท โดยจะชำระส่วนที่เหลือภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 จำเลยจึงยินยอมให้ผู้ร้องทำการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ได้หากผู้ร้องไม่สามารถนำเงินมาชำระได้ภายในกำหนด จำเลยจะยังไม่โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางให้ผู้ร้องจนกว่าจะมีการชำระเงินส่วนที่เหลือให้ครบถ้วน แสดงว่าคู่สัญญาตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อขายเมื่อผู้ร้องชำระราคาส่วนที่เหลือแล้ว สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 การที่จำเลยส่งมอบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์และลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและรับโอน เอกสารหมาย ร.2 พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไว้ให้ผู้ร้องนั้นเป็นเพียงเพื่อความสะดวกแก่ผู้ร้องในการไปจดทะเบียนรับโอนเมื่อได้มีการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย ร.1 ครบถ้วนแล้วเท่านั้น มิได้ทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดดังที่ผู้ร้องฎีกา เมื่อผู้ร้องยังคงค้างชำระราคายนต์อยู่ 50,000 บาท กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางจึงยังไม่ได้โอนไปเป็นของผู้ร้องผู้ร้องมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share