คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2209/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 25 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนใช้สิทธิฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีในกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ แต่หากรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นไปภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหรือวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์ ดังนั้น การที่จำเลยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นไปภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันรับคำอุทธรณ์ โจทก์จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยได้รับคำอุทธรณ์
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีมิใช่อายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 ลักษณะ 6 จึงนำเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14 ในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับไม่ได้
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องคดีภายในอายุความ ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ต่อไป จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาทตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก)แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแต่ละชั้นศาลเกินมาจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกินกว่า 200 บาทให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 780,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและหากมีการประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใดและเมื่อใด ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากต้นเงิน780,300 บาท แก่โจทก์ทั้งสองจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทั้งสี่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองเหมาะสมเป็นธรรมแล้ว ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 4 ได้รับคำอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 53770 ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศ เขตพระโขนง และแขวงคลองสองต้นนุ่นแขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานครเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน – ลาดกระบังพ.ศ. 2532 โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจากจำเลยที่ 1แล้วแต่ไม่พอใจ จึงอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจำเลยที่ 4 ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2538ต่อมาจำเลยที่ 4 แจ้งคำวินิจฉัยว่าเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองจากตารางวาละ 80 บาท เป็นตารางวาละ 600 บาท เมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2539

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองมีว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสองบัญญัติว่า “ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์” และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี”จากบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนใช้สิทธิฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลา1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีในกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์แต่หากรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นไปภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหรือวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์ คดีนี้จำเลยที่ 4มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองให้เสร็จสิ้นไปภายกำหนดหกสิบวันนับแต่วันรับคำอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองจึงต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 4 ได้รับคำอุทธรณ์คือต้องฟ้องภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2539 แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 จึงเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับฎีกาโจทก์ทั้งสองที่ว่า หนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีมิใช่อายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 จึงนำเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 ในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับไม่ได้

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีภายในอายุความ ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสองต่อไป จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาราง 1 ข้อ 2 (ก) แต่โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแต่ละชั้นศาลจำนวน 19,507.50 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกินกว่า 200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง

พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแต่ละชั้นศาลที่เกินกว่า 200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง

Share