แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ใบแจ้งย้ายที่อยู่ ท.ร.6 ตอน 1 เป็นเอกสารราชการหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ใบแจ้งย้ายที่อยู่ ท.ร.6 ตอน 1 เป็นแบบฟอร์มของทางราชการที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายออก และนายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายเข้าต้องลงชื่อเป็นผู้รับแจ้งในเอกสารนี้ด้วย ถือได้ว่าเป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้น อันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้น อันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(8) หาใช่เป็นเพียงเอกสารส่วนตัวของเจ้าบ้านไม่
ย่อยาว
โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,137, 265, 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 137, 268 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265) จำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยใช้เอกสารใบแจ้งย้าย ท.ร. 6 ตอน 1 ตามเอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลจังหวัดกำแพงเพชร) ซึ่งเป็นเอกสารปลอมคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เอกสารปลอมดังกล่าวเป็นเอกสารราชการหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225 พิเคราะห์เอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลจังหวัดกำแพงเพชร) แล้ว เห็นว่า เอกสารนี้เป็นแบบฟอร์มของทางราชการที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายออก และนายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายเข้าต้องลงชื่อเป็นผู้รับแจ้งในเอกสารนี้ด้วย จึงถือได้ว่าเป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้น อันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) หาใช่เป็นเพียงเอกสารส่วนตัวของเจ้าของบ้านดังที่จำเลยฎีกาไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนักเกินไปเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์