คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายหลายคนลักยางพาราแผ่น 11 มัดของ จ. ผู้เสียหายไป ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้ และยึดยางพาราแผ่น 1 มัดของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป ดังกล่าวเป็นของกลางทางพิจารณาได้ความว่ายางพาราแผ่น 1 มัดของกลางที่จำเลยทั้งสองลักไป เป็นยางคนละชนิดคนละ จำนวนกับยางพาราแผ่น 11 มัดของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์มิได้มุ่งประสงค์ให้ลงโทษ จำเลยทั้งสองฐานลักหรือรับของโจรยางพาราแผ่น 1 มัดของกลางข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวใน ฟ้องและมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษศาล จะลงโทษจำเลยทั้งสองฐานลักยางพาราแผ่น 1 มัดของกลางมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายหลายคนบังอาจลักยางพาราแผ่น ๑๑ มัดของนายจื้อผู้เสียหายไป ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้และยึดยางพาราแผ่น ๑ มัด อันเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวเป็นของกลาง ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันลักยางพาราแผ่น ๑๑ มัด หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองก็ร่วมกันรับเอายางพาราแผ่น ๑ มัดของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗, ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ ลงโทษจำคุก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองได้นำรถยนต์บรรทุกของผู้เสียหายนำยางพาราแผ่นชนิดหุ้มหัวจำนวน ๑๐๐ มัด ยางพาราแผ่นชนิดมัดเอวจำนวน ๕๐ มัด และชนิดลูกเต๋าจำนวน ๓๐ ลูก ของผู้เสียหายจากจังหวัดระยองไปส่งที่ร้านจิ้งเฮงฮั้วและบริษัทฮ่วยชวนจำกัด ที่กรุงเทพมหานครโดยผู้เสียหายให้ส่งยางพาราชนิดหุ้มหัวให้แก่ร้านนจิ้งเฮงฮั้ว ส่วนยางพาราแผ่นชนิดมัดเอวและชนิดลูกเต๋าให้ส่งแก่บริษัทฮ่วยชวน จำกัด ปรากฏว่ายางพาราแผ่นชนิดหุ้มหัวที่ส่งให้แก่ร้านจิ้งเฮงฮั้วขาดจำนวนไป ๑๑ มัด และกลับปรากฏว่ามียางพาราชนิดมัดเอวซึ่งเป็นคนละชนิดและคนละจำนวนกับยางพาราแผ่นจำนวน๑๑ มัดที่ขาดหายไป เกินอยู่ที่บริษัทฮ่วยชวนจำกัด ๑ มัด แต่ยางพาราที่เกินนี้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนเอาไป ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องและที่นำสืบ โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองเฉพาะยางพาราแผ่นชนิดหุ้มหัวที่ขาดหายไปจำนวน ๑๑ มัดเท่านั้น โจทก์ไม่ได้มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร ยางพาราชนิดมัดเอวส่วนที่เกิน จึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ยางพาราของกลางชนิดมัดเอวเป็นคนละชนิดและคนละจำนวนกับยางพาราแผ่นที่ขาดหายไปและเป็นยางพาราส่วนที่เกินข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นจึงฟังเป็นยุติ คงมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาเพียงว่า ยางพาราชนิดมัดเอวของกลาง โจทก์มุ่งประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรหรือไม่ เห็นว่าฟ้องโจทก์ข้อ ๑ กล่าวว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๕ เวลากลางวัน ได้มีคนร้ายหลายคนบังอาจลักยางพาราแผ่น ๑๑ มัด หนัก ๖๖๐ กิโลกรัม ของนายจื้อ แซ่ตั้ง ผู้เสียหายไป และตามฟ้องของโจทก์ข้อ ๒ กล่าวว่า ต่อมาวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๕ เวลากลางวันเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายได้ และยึดยางพาราแผ่น ๑ มัด หนัก ๖๐ กิโลกรัม ทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวในข้อ ๑ เป็นของกลาง ทั้งนี้ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลักเอายางพารา ๑๑ มัด หนัก ๖๖๐ กิโลกรัม หรือมิฉะนั้นตามวันเวลาดังกล่าวจนถึงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๕ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันรับเอายางพาราแผ่น๑ มัด หนัก ๖๐ กิโลกรัมของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวในฟ้องข้อ ๑ ไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันไม่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ศาลฎีกาพิเคราะห์ฟ้องโจทก์ดังกล่าวแล้วเห็นว่า โจทก์มุ่งฟ้องเฉพาะยางพารา ๑๑ มัด หนัก ๖๖๐ กิโลกรัมที่ขาดหายไป และโจทก์ก็ระบุในฟ้องข้อ ๒ ว่ายางพารา ๑ มัด หนัก ๖๐ กิโลกรัมของกลางคือยางพาราส่วนหนึ่งของยาพารา ๑๑ มัด ที่หายไปดังกล่าวในฟ้องข้อ ๑ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่ายางพาราแผ่นของกลางจำนวน ๑ มัด เป็นยางพาราแผ่นนอกเหนือจากข้อกล่าวหาและเป็นคนละชนิดกับยางพาราแผ่นที่หายไปจำนวน ๑๑ มัด และไม่ใช่ยางพาราแผ่นอันเป็นส่วนหนึ่งในจำนวน ๑๑ มัดด้วยแล้ว จึงเป็นที่เห็นได้ชัดแล้วว่าโจทก์มิได้มุ่งประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรยางพาราแผ่นของกลางที่เกินจำนวนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง และไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share