คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีโดยมิได้รับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบ และยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ได้ยื่นใบลาออกจากงานจริงหรือไม่ทั้งการที่โจทก์ออกจากงานเป็นผลเนื่องจากโจทก์ยื่นใบลาออกหรือจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์เกษียณอายุ ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 51 ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นพนักงานฝ่ายประกอบตัวรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 26,085 บาท ตามระเบียบของจำเลยพนักงานชายจะเกษียณอายุเมื่ออายุ 55 ปี หญิง 50 ปี ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 โดยมาตรา 15 บัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างแรงงาน ดังนั้น ระเบียบดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมาย โจทก์ได้เกษียณอายุเมื่ออายุ 50 ปี ต่อมาคณะกรรมการสวัสดิการของจำเลยจึงมีมติให้พนักงานชายและหญิงเกษียณอายุที่ 55 ปี การกระทำของจำเลยเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยให้รับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยต่อไปจนกว่าจะเกษียณอายุที่55 ปี และจ่ายเงินเดือนนับแต่เกษียณอายุตามระเบียบเก่าจนถึงวันฟ้อง 10 เดือน เป็นเงิน260,850 บาท หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ขอให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับเงินเดือนจนกว่าจะเกษียณอายุตามมติใหม่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 1,565,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มิได้หมายความรวมถึงการเกษียณอายุด้วย ดังนั้น ระเบียบเกี่ยวกับการเกษียณอายุของลูกจ้างจำเลย จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อมาจำเลยได้แก้ไขระเบียบเป็นว่าลูกจ้างชายและหญิงให้เกษียณอายุที่ 55 ปี แต่ระเบียบดังกล่าวประกาศใช้หลังจากที่โจทก์ออกจากงานไปแล้ว จำเลยจึงไม่จำต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายเงินเดือนหรือค่าเสียหายตามฟ้องให้โจทก์ และเนื่องจากโจทก์ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยทำให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ลาออกแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาดังกล่าวจำเลยได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การโดยจำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เนื่องจากโจทก์ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย ทำให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยนับแต่วันที่ลาออกแล้ว อันเป็นประเด็นแห่งคดีซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องมีคำวินิจฉัย แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนี้โดยรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างเมื่ออายุครบ 50 ปี เพราะเหตุเกษียณอายุโดยที่ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบในคดีนี้ และยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ได้ยื่นใบลาออกจากงานจริงหรือไม่ หากโจทก์ยื่นใบลาออก โจทก์ยื่นเมื่อใด การที่โจทก์ออกจากงานเป็นผลเนื่องจากโจทก์ยื่นใบลาออกหรือจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไป”

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง และให้ย้อนสำนวนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป

Share