คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4003/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้แทนหรือผู้มีอำนาจกระทำแทนมิซซังตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 ข้อ 2 วรรคสองมีอยู่ 2 คน คือ อ. ที่โป๊ปได้แต่งตั้งมา และถ้าไม่มีตัวอยู่คนที่เป็นผู้แทนอีกคนหนึ่งคือผู้บัญชาการของมิซซังมิซซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพมหานครโจทก์มี ค. เป็นมุขนายกซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ในการปกครองดูแลมิซซัง จึงถือว่า ค. เป็นผู้บัญชาการของมิซซังมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมีอำนาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนต่อไป เมื่อ ค. มอบอำนาจให้ ป. ฟ้องคดีและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ เมื่อ ป. มอบอำนาจให้ ม. และหรือ ว. ฟ้องคดีแทน ม. และหรือ ว. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
แม้คณะเทศมนตรีไม่ใช่นิติบุคคล แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นคณะเทศมนตรี โดย ศ. นายกเทศมนตรีในฐานะประธานกรรมการผู้มีอำนาจรับคำร้องและวินิจฉัยแจ้งคำชี้ขาดการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของผู้ร้องอุทธรณ์ตามกฎหมาย ถือได้ว่าโจทก์ฟ้อง ศ. นายกเทศมนตรีในฐานะผู้แจ้งคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยชี้ขาด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะเทศมนตรี เพื่อให้ ศ. ในฐานะผู้แจ้งคำชี้ขาดเข้ามาต่อสู้คดีและชี้แจงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อแก้ข้ออ้างของโจทก์
โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 9(3) ต้องมีลักษณะเป็นโรงเรียนสาธารณะ กระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และจะต้องใช้ในการศึกษาเท่านั้น โรงเรียนของโจทก์เป็นโรงเรียนเอกชนเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนเป็นอัตราแน่นอนและได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งมีรายได้แต่ละปีเป็นจำนวนมาก และโจทก์ยังใช้สถานที่ของโรงเรียนหารายได้นอกเหนือจากการศึกษา โดยนำไปให้บุคคลภายนอกใช้และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจึงมิใช่เป็นการกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและมิได้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น เมื่อโรงเรียนของโจทก์ไม่ใช่ลักษณะของโรงเรียนตามมาตรา 9(3) โจทก์จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 โดยมีพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู เป็นมุขนายกและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน คดีนี้โจทก์มอบอำนาจให้บาทหลวงปัญญา กฤษเจริญ เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน โดยให้มอบอำนาจช่วงได้ซึ่งคดีนี้ได้มอบอำนาจให้นายมนัส วงศ์ประดู่ และหรือนายวีระพันธ์ ยิ้มแย้ม เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคล บริหารงานโดยจำเลยที่ 2 ที่มีนางศมานันท์ เหล่าวณิชศิษฎ์ เป็นนายกเทศมนตรี เป็นผู้มีอำนาจรับคำร้อง และวินิจฉัยแจ้งคำชี้ขาดการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของผู้อุทธรณ์ตามกฎหมาย โจทก์เป็นเจ้าของและเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงเรียนนารีวิทยาและโรงเรียนดรุณาราชบุรีซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ของโจทก์ อันเป็นโรงเรียนสาธารณะ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการกุศลมิใช่เพื่อหาผลกำไรส่วนบุคคลจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรียนทั้งสองดังกล่าวของโจทก์ ประจำปีภาษี 2534 ถึง 2543 จากจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงได้อุทธรณ์ไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่ม โจทก์ได้ชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว โดยสำหรับของโรงเรียนนารีวิทยาเป็นเงิน 2,340,844บาท สำหรับของโรงเรียนดรุณาราชบุรีเป็นเงิน 7,303,461 บาท แต่โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากกิจการโรงเรียนทั้งสองดังกล่าวของโจทก์อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 9(3) โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2534 ถึง 2543 ของจำเลยที่ 1 ที่เรียกเก็บสำหรับโรงเรียนนารีวิทยา ตามภ.ร.ด. 8 เล่มที่ 3 เลขที่ 31, 39 ถึง 47 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 และที่เรียกเก็บสำหรับโรงเรียนดรุณาราชบุรีตาม ภ.ร.ด. 8 เล่มที่ 3 เลขที่ 48 ถึง 57 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543กับขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 2 สำหรับโรงเรียนนารีวิทยา ตาม ภ.ร.ด. 11 เล่มที่ 1 เลขที่ 5 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2543 และสำหรับโรงเรียนดรุณาราชบุรี ตามภ.ร.ด. 11 เล่มที่ 1 เล่มที่ 4 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2543 และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและหรือแทนกันชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมทั้งเงินเพิ่มของโรงเรียนนารีวิทยาจำนวน 2,340,844 บาท และของโรงเรียนดรุณาราชบุรี จำนวน 7,303,461 บาท คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,644,305 บาท นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 (วันที่ 13 พฤศจิกายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู เป็นมุขนายกและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจึงไม่ชอบกิจการโรงเรียนนารีวิทยาและโรงเรียนดรุณาราชบุรีของโจทก์เป็นโรงเรียนเอกชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลกำไรส่วนบุคคล มิใช่โรงเรียนสาธารณะหรือเพื่อการกุศลจึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน การประเมินและวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2534 ถึง 2543 ที่เรียกเก็บสำหรับโรงเรียนนารีวิทยาตามแบบแจ้งการประเมิน(ภ.ร.ด. 8) เล่มที่ 3 เลขที่ 31, 39 ถึง 47 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 และที่เรียกเก็บสำหรับโรงเรียนดรุณาราชบุรี ตามแบบแจ้งการประเมิน (ภ.ร.ด. 8) เล่มที่ 3 เลขที่ 48 ถึง 57 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 กับให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 2 สำหรับโรงเรียนนารีวิทยา ตามใบแจ้งคำชี้ขาด ภ.ร.ด. 11 เล่มที่ 1 เลขที่ 5 ลงวันที่ 16 ตุลาคม2543 และสำหรับโรงเรียนดรุณาราชบุรีตามใบแจ้งคำชี้ขาด ภ.ร.ด. 11 เล่มที่ 1 เลขที่ 4ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2543 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 9,644,305 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 10,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีนี้พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ได้มอบอำนาจให้บาทหลวงปัญญา กฤษเจริญเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีและมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ ต่อมาบาทหลวงปัญญาได้มอบอำนาจให้นายมนัส วงศ์ประดู่ และหรือนายวีระพันธ์ ยิ้มแย้ม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ มีปัญหาว่า พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ได้บัญญัติถึงผู้แทนของวิการิอาโต อาปอส ตอลิโก หรือเรียกภายหลังว่าบิสชอปริกหรือมิซซัง อยู่ในข้อ 2 วรรคสองว่า วิการิโอ อาปอสตอลิโก ที่โป๊ปได้แต่งตั้งมาให้เป็นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งในบิสชอปริกแห่งหนึ่ง และถ้าไม่มีตัวอยู่ ผู้บัญชาการในมิซซังนั้นเป็นผู้แทนบริษัทของบิสชอปริกหรือมิซซังเหมือนอย่างบริษัทที่บุคคลรวมกันทำการได้อันหนึ่ง จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า ผู้แทนหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนมิซซังมีอยู่ด้วยกัน 2 คน คนแรกคือวิการิโอ อาปอสตอลิโกที่โป๊ปได้แต่งตั้งมาเป็นใหญ่คนหนึ่งและถ้าไม่มีตัวอยู่คนที่เป็นผู้แทนอีกคนหนึ่งก็คือ ผู้บัญชาการของมิซซัง ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่า มีวิการิโอ อาปอสตอลิโก ที่โป๊ปได้แต่งตั้งมา ดังนี้ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือผู้แทนโจทก์ก็คือ ผู้บัญชาการของมิซซัง โจทก์มีเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 24 เป็นพยานในเอกสารดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่า พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู เป็นประมุขผู้ปกครองมิซซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ในการปกครองดูแลมิซซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพมหานคร เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ออกโดยกรมการศาสนาซึ่งมีหน้าที่ดูแลศาสนาทั่วไป จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู เป็นมุขนายกเป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ในการปกครองดูแลมิซซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพมหานคร จึงถือได้ว่าพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู เป็นผู้บัญชาการของมิซซังดังกล่าว พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตามข้อ 2 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น และมีอำนาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนต่อไป เมื่อพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู มอบอำนาจให้บาทหลวงปัญญา กฤษเจริญ ฟ้องคดีและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ เมื่อบาทหลวงปัญญา กฤษเจริญ มอบอำนาจให้นายมนัส วงศ์ประดู่ และหรือนายวีระพันธ์ ยิ้มแย้ม ฟ้องคดีแทน นายมนัส วงศ์ประดู่ และหรือนายวีระพันธ์ ยิ้มแย้ม จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้มาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อที่สองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคณะเทศมนตรีเมืองราชบุรีหรือไม่ ในปัญหานี้แม้จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ เห็นว่า คณะเทศมนตรีเมืองราชบุรี แม้ไม่ใช่นิติบุคคล แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นคณะเทศมนตรีเมืองราชบุรี โดยนางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฎ์ นายกเทศมนตรีในฐานะประธานกรรมการผู้มีอำนาจรับคำร้อง และวินิจฉัยแจ้งคำชี้ขาดการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของผู้ร้องอุทธรณ์ตามกฎหมาย การบรรยายฟ้องของโจทก์พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องตัวนางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฏ์ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรีในฐานะผู้แจ้งคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะเทศมนตรีเมืองราชบุรี ซึ่งมีนางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฏ์ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรีเป็นผู้แจ้งคำชี้ขาด โจทก์จึงต้องฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดซึ่งคณะเทศมนตรีเมืองราชบุรีได้ชี้ขาดเพื่อให้นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฏ์ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรีในฐานะผู้แจ้งคำชี้ขาด เข้ามาต่อสู้คดีและชี้แจงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อแก้ข้ออ้างของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า โรงเรียนพิพาทของโจทก์ทั้งสองโรงเรียนจะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ ข้อนี้ที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องและนำสืบว่าการตั้งโรงเรียนของโจทก์เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ข้อ 8 กล่าวคือวัดบาทหลวงมีโรงเรียนเด็กชายหรือโรงเรียนเด็กหญิงก็ได้ และข้อ 12 บัญญัติว่าการมีโรงเรียนเด็กชายและหรือโรงเรียนเด็กหญิงตามความในข้อ 8 ถือว่าเป็นการกุศลมิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรส่วนบุคคล จึงไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่าตามบทบัญญัติที่โจทก์กล่าวอ้างในข้อ 8 และข้อ 12 นั้น มิได้มีบทบัญญัติที่กล่าวอ้างว่ากิจการใดของวัดบาทหลวงเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการกุศลแต่อย่างใด โดยจะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวในข้อ 6 บัญญัติว่า ที่ดินของมิซซัง แบ่งเป็นสองอย่าง อย่างที่ 1 คือที่ดินที่ใช้เป็นวัด โรงเรือนตึกรามวัดบาทหลวง อย่างที่ 2 คือที่ดินเพื่อทำประโยชน์ให้แก่มิซซัง สำหรับบทบัญญัติในข้อ 8 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยที่ดินที่ใช้เป็นวัดโรงเรือนของบาทหลวงโดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สถานวัดบาทหลวง ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนเด็กผู้ชาย โรงเรียนเด็กผู้หญิง โรงเลี้ยงเด็ก โรงเรียนศาสนา และโรงพยาบาล ซึ่งบัญญัติอยู่ในวรรคหนึ่ง ของข้อ 8 ในบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนอีกประเภทหนึ่งบัญญัติไว้ในวรรคสอง คือ สถานพักสอนศาสนาซึ่งจะมีโรงสวด ที่พักบาทหลวงเวลาไปตรวจสถานพัก และมักมีโรงเรียนศาสนา หรือโรงทำการกุศลอย่างอื่น ส่วนความในข้อ 8 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติว่าด้วยบัญชีรายชื่อสถานวัดบาทหลวงและสถานพักสอนศาสนาที่มีอยู่ในขณะที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ ส่วนในข้อ 12 ที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับที่ดินประเภทที่ 2 ของข้อ 6 คือ ที่ดินเพื่อทำประโยชน์ให้แก่มิซซังมีข้อความตอนต้นเพียงว่านอกจากที่ดินสำหรับใช้การวัดหรือการกุศลดังที่บัญญัติไว้ในข้อ 8 นั้นแล้ว ให้มิซซังมีอำนาจที่จะถือที่ดินเป็นที่ดินสำหรับทำประโยชน์ให้แก่มิซซัง… ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติทั้งสองข้อตามที่โจทก์กล่าวอ้าง มิได้มีปรากฏว่าวัตถุประสงค์ของมิซซังตามข้อ 8 และข้อ 12 เป็นวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลแท้จริง คำว่า การกุศล ที่กำหนดในข้อ 8 ตามความในข้อ 12 นั้น จะเห็นได้ว่า ในข้อ 8 มีบัญญัติเรื่องโรงทำกุศลแห่งเดียวในวรรคสอง ซึ่งเป็นเรื่องของสถานพักสอนศาสนาเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับโรงเรียนเด็กชาย โรงเรียนเด็กหญิง ในวรรคหนึ่งของข้อ 8ตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโรงเรียนเด็กชายโรงเรียนเด็กหญิงเป็นกิจการกุศลตามข้อ 8 และข้อ 12 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องเพราะมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นกิจการกุศลดังที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 7 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการสร้างวัด ตึกโรงเรียน ปลูกโรงสอนหนังสือเด็ก ๆ โรงรักษาคนไข้ก็ดีในประเทศไทยนั้นจะต้องประพฤติตามกฎหมายไทย ซึ่งหมายถึงว่าสถานที่ทุกแห่งของมิซซังจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ซึ่งในกรณีนี้การที่โรงเรียนทั้งสองของโจทก์จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ ก็จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ได้บัญญัติการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรียนไว้ในมาตรา 9(3) ว่า ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา จากบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่าโรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินจะต้องประกอบด้วยลักษณะสามประการกล่าวคือ ประการแรก เป็นโรงเรียนสาธารณะ ประการที่สองจะต้องกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และประการที่สาม จะต้องใช้ในการศึกษาเท่านั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โรงเรียนทั้งสองของโจทก์กระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของบาทหลวงปัญญา กฤษเจริญ และนายมนัส วงศ์ประดู่ พยานโจทก์ว่า โรงเรียนทั้งสองของโจทก์เป็นโรงเรียนเอกชน มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น เช่น มีการเก็บค่าเรียนคอมพิวเตอร์ 300 บาท ต่อเทอม เรียกเก็บค่าใช้สระว่ายน้ำอีก 300 บาท ต่อคนเห็นว่าหากโรงเรียนของโจทก์เป็นกิจการหรือการกุศลตามที่โจทก์อ้างแล้ว โจทก์จะต้องไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเรียนเป็นอัตราแน่นอนหรือเป็นการดำเนินการให้โดยไม่ให้คิดมูลค่าหรือผู้ที่มาเข้าเรียนอาจจะบริจาคให้ตามความพอใจ แต่โรงเรียนของโจทก์เก็บค่าธรรมเนียมเป็นอัตราแน่นอน นอกจากนั้นยังได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกต่างหาก ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า ในปี 2543 โรงเรียนนารีวิทยามีรายได้ 2,000,000 บาท โรงเรียนดรุณาราชบุรี มีรายได้ 3,000,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว จึงแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนของโจทก์มีรายได้แต่ละปีเป็นจำนวนมากและยังได้ความต่อไปว่าโจทก์เคยใช้เงินรายได้จากโรงเรียนดรุณาราชบุรีส่วนหนึ่งไปซื้อกิจการของโรงเรียนราชบุรีโพลีเทคนิคมาไว้ดำเนินการในกิจการของโจทก์อีก เป็นจำนวนถึง 8,000,000 บาท ยิ่งแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนของโจทก์ทั้งสองมีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นของโจทก์เป็นการกระทำกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลนอกจากเป็นกิจการเพื่อเป็นกำไรส่วนบุคคลแล้ว ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า โจทก์ยังใช้สถานที่ของโรงเรียนทั้งสองหารายได้นอกเหนือจากการศึกษาอีกด้วย โดยนำสระว่ายน้ำของโรงเรียนไปให้ผู้อื่นใช้ โดยเรียกค่าธรรมเนียมครั้งละ 10 บาทและยังได้นำโรงพละไปให้บุคคลภายนอกจัดเลี้ยงสังสรรค์ โดยเก็บค่าใช้จ่ายอีกด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเห็นได้ว่าสถานที่ของโจทก์คือโรงเรียนทั้งสองไม่ได้ใช้เฉพาะเพื่อการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวแต่ใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กิจการโรงเรียนทั้งสองของโจทก์ไม่ใช่เป็นการกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และมิได้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโรงเรียนของโจทก์เป็นโรงเรียนสาธารณะหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง เมื่อโรงเรียนของโจทก์ทั้งสองไม่ใช่ลักษณะของโรงเรียนตามมาตรา 9(3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 แล้ว โจทก์จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนนี้ การประเมินภาษีโรงเรือนและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท”

Share