คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คคือวันที่ 8 มีนาคม 2543 เมื่อเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งมีกำหนดให้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 และ 96 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 5 กันยายน 2543 โดยมิได้ร้องทุกข์ไว้ จึงขาดอายุความ
ประมวลกฎหมายอาญาภาค 1 ลักษณะ 1 หมวด 9 บัญญัติเรื่องอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะแล้ว มิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงหรือเลิกนับอายุความร้องทุกข์อันจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงดุสิตภายในกำหนดอายุความ แต่คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงดุสิตและศาลแขวงดุสิตได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ไปแล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลแขวงพระนครใต้อีกเมื่อพ้นกำหนดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2542 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม จำนวน 2 ฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 จำนวนเงินฉบับละ 750,000 บาท และ 15,212,988 บาทตามลำดับมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2543 จำเลยทั้งสองออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรักกรุงเทพมหานคร โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 โจทก์ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงดุสิต ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องและส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสอง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม ไม่รับฟ้องโจทก์และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ อายุความร้องทุกข์จึงสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นมา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวาด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เชค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ยกฟ้อง และมีคำสั่งใหม่ให้นัดไต่สวนมูลฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนคำสั่งที่ยกฟ้องให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าวันที่ 29 พฤษภาคม 2543โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงดุสิตในคดีหมายเลขดำที่ 3738/2543 และขอแก้ไขคำฟ้องโดยเปลี่ยนสถานที่เกิดเหตุจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ 404/9 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานครมาเป็นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม เลขที่ 491/1-2 อาคารสีลมพลาซ่าแขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และขอให้โอนคดีไปศาลแขวงพระนครใต้ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า อนุญาตตามที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้อง ส่วนที่โจทก์ขอโอนคดีนั้นไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำได้ จึงให้ยกคำร้องส่วนนี้และให้เพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องและมีคำสั่งใหม่ ไม่รับคำฟ้อง ให้คืนคำฟ้องแก่โจทก์ไปจำหน่ายคดีจากสารบบความ ซึ่งต่อมาในวันที่ กันยายน 2543 โจทก์ก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงพระนครใต้เป็นคดีนี้ ศาลแขวงพระนครใต้มีคำสั่งในคำฟ้องว่า”พิเคราะห์แล้ว คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ แต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีต่อศาลนี้ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าได้ฟ้องคดีต่อศาลอื่นไว้ก่อนแล้วภายในกำหนดอายุความ ก็มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้อายุความสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลอื่นดังกล่าวแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความให้ยกฟ้อง หมายแจ้งคำสั่งให้โจทก์และทนายโจทก์ทราบ ไม่มีรับผู้โดยชอบให้ปิด” มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คพิพาทคือวันที่ 8 มีนาคม 2543 เมื่อคดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งมีกำหนดให้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 และ 96 ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 5 กันยายน2543 โดยมิได้ร้องทุกข์จำเลยไว้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต่อศาลแขวงดุสิตก่อนแล้วจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือเลิกนับอายุความร้องทุกข์นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาภาค 1 ลักษณะ 1หมวด 9 ได้ บัญญัติเรื่องอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะแล้ว หาได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงหรือเลิกนับอายุความร้องทุกข์อันจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้ต่อศาลแขวงดุสิตภายในกำหนดอายุความ แต่คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงดุสิต และศาลแขวงดุสิตได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ไปแล้ว การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องศาลแขวงพระนครใต้อีกเมื่อพ้นกำหนดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share